วัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ตั้งขึ้นจากการขยายตัวของชุมชน 2 หมู่บ้านได้แก่ ชุมชนบ้านนครบาลและชุมชนบ้านใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยยวนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยแต่เดิมเป็นชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อชุมชนบริเวณดังกล่าวหนาแน่นมากขึ้น จึงได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนตั้งรกรากที่บริเวณเมืองราชบุรี อยู่รวมกันเป็นชุมชนชาวไทยยวนขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่เมืองโบราณคูบัว เอกสารโบราณของวัดถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีภายในตู้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ของวัด เอกสารโบราณดังกล่าวท่านพระครูพัฒนกิจสุนทรได้รวบรวมมาจากวัดในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่ไม่สามารถดูแลรักษาไว้ได้หรือไม่ให้ความสำคัญต่อเอกสารโบราณ รวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ ด้วย จากการสำรวจพบว่า เอกสารโบราณประเภทใบลานบางส่วนได้รับการจัดทำทะเบียนโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติไว้แล้ว ท่านพระครูพัฒนกิจสุนทร (สังข์ ชิตมาโร) อดีตเจ้าวัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ท่านมีเชื้อสายชาวไทยยวน เป็นพระสงฆ์ 1 ในจำนวน 2 รูป ของชุมชนชาวไทยยวนคูบัว ที่ยังคงสวดมนต์และประกอบพิธีแบบไทยวนอยู่ อีกท่านหนึ่งคือท่านพระครูวินัยธร โชติโย เจ้าอาวาสวัดทุ่งหญ้าคมบาง พระครูพัฒนกิจสุนทร หรือหลวงพ่อสังข์ ท่านได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุรวมถึงเอกสารโบราณมาจากวัดต่างๆ ภายในเขตชุมชนไทยยวน โดยมีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาทางด้านอักษรและภาษาไทยวน ให้อยู่คู่ชุมชน เพื่อที่จะรักษาไว้ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดินสืบไป แต่ขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์และงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าแก่ผู้ที่สนใจ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นสืบไป เอกสารโบราณที่รวบรวมไว้มีทั้งที่เป็นอักษรไทย อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนา เป็นที่น่าสนใจที่ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบอักษรและอักขรวิธีของอักษรธรรมล้านนา รวมถึงการศึกษาทางด้านคติชนวิทยา มานุษยวิทยา สังคมวิทยา และพุทธศาสนา กับเอกสารโบราณของพื้นที่เขตวัฒนธรรมล้านนา อันจะช่วยให้เห็นความแตกต่างหลากหลายกลุ่มชนที่อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมต่างกันได้เป็นอย่างดี
คอลเลกชั่นพิเศษของคุณมนัสวี ผู้ได้รับมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นอันเป็นเอกสารตัวเขียน ท่านได้เล่าถึงที่มาที่ไปเอกสารชุดนี้ว่าเป็นของคุณปู่ ท่านประกอบอาชีพเป็นครูสอนศาสนานิกายซุนนีห์ จึงมีเอกสารเกี่ยวกับศาสนาอิสลามจำนวนหนึ่ง คุณมนัสวีเล่าให้ฟังต่อว่า “สมัยนั้นยังไม่มีความสนใจในเรื่องเหล่านี้จึงไม่เคยสอบถามอะไรไว้ และคุณปู่ก็เสียชีวิตไปเมื่อ พ.ศ.2475 น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่ได้เรื่องราวใด ๆ ไว้” ส่วนเอกสารโบราณเหล่านี้คุณมนัสวีไปพบที่บ้านหลังเก่าของคุณปู่ ถูกเก็บไว้ในห้องใต้หลังคา บ้านหลังนั้นไม่ได้รับความเสียหายจากระเบิดในช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ทำให้เอกสารโบราณเหล่านี้ไม่ได้รับความเสียและถูกค้นพบในเวลาต่อมา เอกสารตัวเขียนถูกเก็บไว้ในหีบไม้ เอกสารบางส่วนมีรอยเปื้อนซึมน้ำ ทำให้เอกสารโบราณติดกันเป็นปึกแกะไม่ออกบ้าง บางส่วนหลุดออกมาเป็นแผ่น ๆ แต่สภาพโดยรวมยังถือว่าเอกสารโบราณอยู่ในสภาพดี โดยเอกสารที่พบเป็นสมุดไทยขาว 1 เล่ม อักษรไทยและอักษรอาหรับ กล่าวถึงข้อปฏิบัติตามหลักของศาสนาอิสลาม เช่น การชำระล้างร่างกาย การละหมาด การถือศีลอด เป็นต้น ส่วนสมุดฝรั่งนั้นมีหลายเล่ม จึงขอยกเล่มที่น่าสนใจ อาทิ คัมภีร์อัลกุรอาน อักษรอาหรับ การตกแต่งด้วยการลงสีอย่างสวยงาม และเย็บกี่เข้าเป็นเล่มเดียวกัน เนื่องจากคัมภีร์อัลกุรอานบางแห่งจะจัดเก็บเป็นเล่มเล็ก ๆ แยกเฉพาะบทเท่านั้น อาจเป็นในเรื่องความสะดวกในการหยิบมาใช้ หรือการพกพาก็เป็นได้
วัดบ้านโพธิ์ ตั้งอยู่เลขที่ 75 หมู่ที่ 11 ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 6 แปลง เนื้อที่ 47 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ที่มาของชื่อวัด มาจากภายในบริเวณมีต้นโพธิ์ขึ้นเยอะ ชาวบ้านจึงนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อวัดที่เรียกว่า วัดบ้านโพธิ์ วัดบ้านโพธิ์ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2417 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2482 วัดบ้านโพธิ์ เป็นวัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องคฺการมหาชน) เคยมาสำรวจครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2555 และครั้งที่ 2 วันที่ 5-7 สิงหาคม 2562 และมาทำทะเบียน ทำสำเนาดิจิทัลเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562 และ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พระอธิการบุญสม นาถสีโล เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ท่านพาคณะสำรวจประกอบด้วย นายดอกรัก พยัคศรี (นักวิชาการ) นายสมศักดิ์ แก้วนุช (เจ้าหน้าที่ประสานงาน) นางสาวนิสา เชยกลิ่น (เจ้าหน้าที่ฐานข้อมูล) และนายศุภกรานต์ พุ่มพฤกษ์ (เจ้าหน้าที่โสตทัศน์) ได้ไปลงพื้นที่วัดบ้านโพธิ์ จังหวัดราชบุรี ไปดูเอกสารโบราณที่เก็บเอาไว้ในห้องเก็บของใต้ถุนศาลาการเปรียบ ซึ่งเต็มไปด้วยข้าวของที่ชาวบ้านเอามาทำบุญเช่น หลอดไฟ กรอบรูป หนังสือ ธูปเทียน พัดลมที่ชำรุด เป็นต้น ขาวของเหล่านี้วางทับอยู่บนกล่องที่ใส่คัมภีร์ใบลานที่วางไว้กับพื้น คัมภีร์ใบลานของวัดนี้มีความเสี่ยงในเรื่องความชื้น และน้ำท่วมได้ คัมภีร์ใบลานชุดนี้เก็บไว้ที่จุดเดิมตามข้อมูลที่ฐานข้อมูลเอกสารโบราณฯ เคยจ้างสำรวจเมื่อ พ.ศ.2555 โดยมีกล่องไม้ใส่คัมภีร์ใบลานประมาณ 15 กล่อง กล่องไม้ที่มีใบลานประมาณ 6 กล่อง กล่องไม้เป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฝาปิด กล่องหนึ่งสามารถใส่ใบลานได้ 5-6 ผูก ขึ้นอยู่กับความหนาของเรื่องนั้นๆ ไม่มีลวดลาย ด้านในกล่องไม้บางกล่องพบข้อความที่เขียนเป็นภาษาไทยระบุว่า ใครเป็นผู้สร้างคัมภีร์ เป็นต้น บางกล่องพบผ้าห่อคัมภีร์แม้จะเปื่อยไปตามกาลเวลาแต่ยังคงสีสันสดใสให้เห็น เนื่องจากถูกปล่อยปละละเลยเป็นเวลานาน ประกอบกับสถานที่เก็บรักษาไม่เอื้ออำนวย มีความชื้นสูง ทำให้สภาพเอกสารบางส่วนอยู่ในสภาพชำรุด ชื้น กรอบ มีเศษฝุ่น ขี้จิ้งจก เศษไข่จิ้งจก และรอยแมลงกัดแทะ พระอธิการบุญสม นาถสีโล อนุญาตให้คณะสำรวจทำทะเบียน ถ่ายภาพเอกสารโบราณ และสามารถเผยแพร่เอกสารโบราณของวัดในเว็บไซต์ฐานข้อมูลฯ ได้ การทำความสะอาดเอกสารโบราณ เริ่มจากกำจัดสิ่งสกปรกออกจากตัวเอกสาร ส่วนผ้าห่อคัมภีร์ที่พบแยกไว้อีกส่วน ปัญหาที่พบคือใบลานติดกับเป็นปึก ต้องใช้เวลาและความระมัดระวังเป็นอย่างมากในการแกะออกมา ถึงแม้ว่าใบลานจะมีความชื้นสูงแต่ก็มีความกรอบเช่นกัน หากไม่ระวังอาจทำให้ใบลานหักได้ หลังจากที่แกะใบลานออกเป็นใบๆ แล้ว นำไปเช็ดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 95% ที่ละใบ จากนั้นผึ่งลมให้แห้ง ก่อนจะนำไปทำทะเบียน ถ่ายภาพเอกสารโบราณ จากนั้นนำมาจัดหมวดหมู่ ทำป้ายชื่อกำกับ และห่อผ้า ส่วนคัมภีร์ที่ไม่สมบูรณ์ที่ไม่สมบูรณ์นั้น ทำความสะอาด ห่อให้เรียบร้อย แต่ไม่มีได้การทำสำเนาดิจิทัลเอกสารชุดที่ชำรุดนั้น อ้างอิงข้อมูล ประวัติวัดบ้านโพธิ์. จาก https://www.lovethailand.org/travel/th/13-วัดบ้านโพธิ์.html.
จุฬาราชมนตรีต่วน สุวรรณศาสน์ มีชื่อทางอิสลามว่า อิสมาแอล ยะห์ยาวี เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 ท่านศึกษาวิชาการทางศาสนาจากประเทศซาอุดิอารเบีย ท่านได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 นับเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และคนที่ 15 แห่งราชอาณาจักรไทย ผลงานสำคัญของท่านจุฬาราชมนตรีต่วน คือท่านได้แปลและจัดพิมพ์อัลกุรอานไว้ได้ครบสมบูรณ์และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานงบประมาณในการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มได้เรียบร้อยและพระองค์ยังได้นำพระคัมภีร์อัลกุรอานฉบับแปลนี้ไปพระราชทานแก่พสกนิกรในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยพระองค์เองอีกด้วย ท่านจุฬาราชมนตรีต่วน ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ประมาณ 33 ปี ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ.2524 ศิริรวมอายุได้ 93 ปีเศษ ------- อ้างอิงจาก จุฬาราชมนตรี-ต่วน-สุวรรณศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2568 จาก https://www.cicot.or.th/th/chularatchamontri/detail/33/จุฬาราชมนตรี-ต่วน-สุวรรณศาสตร์ บ้านเขียวอันยุมัน. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2568 จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1492
เว็บท่า (WEB PORTAL) เอกสารโบราณ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านเอกสารตัวเขียน ในการบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านเอกสารตัวเขียนได้ในจุดเดียว เว็บท่า (WEB PORTAL) เอกสารโบราณ ได้รวบรวมข้อมูลเอกสารตัวเขียน โดยปัจจุบันมีข้อมูลของฐานข้อมูลเอกสารโบราณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และฐานข้อมูลเอกสารตัวเขียนในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดให้ใช้บริการ ซึ่งมีข้อมูลเอกสารตัวเขียนรวมกันกว่า 1,800 รายการ และมีแนวทางที่จะแสวงหาเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้านเอกสารตัวเขียนให้ครอบคลุมและเกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ สามารถเข้าไปใช้งานที่เว็บไซต์ https://db.sac.or.th/manuscriptsofthailand/
สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพได้ริเริ่มจัดทำโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ระบบสุขภาพไทย โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 - 2555 เพื่อทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ และจัดแสดงนิทรรศการจากเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย และเป็นแหล่งให้การสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เพื่อสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์และมิติทางสังคมและวัฒนธรรมสุขภาพ ตลอดจนให้บริการเอกสารสำคัญแก่สาธารณชน สำหรับเอกสารโบราณที่นำมาดิจิไทซ์และเผยแพร่ในครั้งนี้คือ เอกสารโบราณส่วนบุคคลที่นายทองอ่อน สิทธิไกรพงษ์ แพทย์แผนโบราณ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการรักษาโรคและใช้ยาสมุนไพรในการบรรเทาอาการเจ็บป่วย โดยนายทองอ่อนถือเป็นแพทย์ประจำตำบลคนแรกของตำบลหนองบัว อำเภอฝาง จังหวัดขอนแก่น และได้รับใบประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรม เวชกรรมและผดุงครรภ์แผนโบราณจากคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ประวัติของนายทองอ่อน สิทธิไกรพงษ์ เกิดเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2458 ณ บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในระหว่างนั้นก็ศึกษาวิชาการนวดและสมุนไพรด้วย โดยอาจารย์ที่สอนมาจากราชสำนัก เมื่อ พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามโลก สมเด็จพระวรรณรัตน์จึงให้ทุกคนกลับไปพำนักยังภูมิลำเนาเดิม นายทองอ่อนจึงได้กลับมาอยู่ที่บ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ช่วยดูแลชาวบ้านด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณที่ได้ร่ำเรียนมา จน พ.ศ. 2488 ได้ลาจากอุปสมบท พ.ศ. 2491 ได้เป็นแพทย์ประจำตำบลหนองบัว นับเป็นแพทย์ประจำตำบลคนแรก (รวมเวลา 27 ปี) พ.ศ. 2497 และได้รับใบประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรม เวชกรรมและผดุงครรภ์แผนโบราณจากคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข นายทองอ่อนเป็นแพทย์แผนโบราณที่ตรวจรักษาคนไข้ด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณ นอกจากนี้ยังสอนหนังสือเกี่ยวกับแพทย์แผนโบราณให้กับผู้สนใจศึกษาหาความรู้ เป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันการแพทย์แผนไทย ทั้งยังส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์แผนโบราณอีกด้วย เมื่อเข้าสู่วัยชรา ร่างกายก็อ่อนแรงตามวัย อาการป่วยกระเสาะกระแสะ จนเสียชีวิตอย่าสงบที่บ้านพัก วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555 สิริรวมอายุ 97 ปี นายทองอ่อนได้มอบเอกสารโบราณเหล่านี้ให้หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ อาทิ เอกสารลายมือเขียน ตำรายา หนังสือ สมุดข่อย และใบลาน ซึ่งทางหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติได้จัดหมวดหมู่และจัดทำบัญชีเรียบร้อยแล้ว โดยฐานข้อมูลเอกสารโบราณ ฯ จะคัดเลือกเฉพาะเอกสารที่เป็นใบลานและสมุดข่อยมาทำสำเนาดิจิทัลและจะเผยแพร่ให้ผู้สนใจใช้งานผ่านฐานข้อมูลเอกสารโบราณ ฯ -------------------------------------------------------------------------------------------------------- ข้อมูลอ้างอิง ภิญญาพัชญ์ จันทอุ่มเม้า. (2565). บัญชีสำรวจเอกสารส่วนบุคคล พ่อทองอ่อน สิทธิไกรพงษ์ (23) สบ. 23 [เอกสารอัดสำเนา]. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
วัดเจ็ดริ้ว ตั้งอยู่ในตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ริมคลองเจ็ดริ้ว ในอดีตประชาชนจะใช้ทางนำเป็นทางสัญจรไปมา ปัจจุบันมีถนนสายบ้านแพ้ว-วัดคลองตัน ผ่าน วัดนี้เป็นศูนย์รวมประเพณีชาวรามัญ ปัจจุบันได้อนุรักษ์ประเพณีการสวดมนต์ทำนองรามัญ คำว่า “เจ็ดริ้ว” มีที่มาที่ไปพอจะสืบค้นจากเอกสารอื่นๆ ได้ว่า มาจากเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีอยู่วันหนึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ไปหาปลาและได้ปลามามากมาย ที่เหลือจากทำอาหารรับประทาน ก็ได้นำมาทำเป็นปลาเค็มไว้ เล่ากันว่าปลาช่อนตัวหนึ่ง ตัวโตมากเมื่อผ่าออกแล้วทำเป็นริ้ว ๆ เพื่อสะดวกในการทาเกลือและทำให้แห้งเร็ว ปรากฎว่านับได้ถึงเจ็ดริ้ว ตั้งแต่นั้นพื้นที่บริเวณนี้ จึงถูกขนานนามว่า “เจ็ดริ้ว” ซึ่งเนื้อหาทำนองนี้นั้นคล้ายกับคำว่า “แปดริ้ว” ของชาวฉะเชิงเทรา วัดเจ็ดริ้ว แต่เดิมตั้งอยู่บนที่ดอน ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 ชาวเจ็ดริ้วได้ร่วมมือ กับทางราชการขุดคลองขึ้นตามแนวร่องน้ำซึ่งมีอยู่เดิม เพื่อสะดวกในการสัญจรไปมา และขุดผ่านหน้าวัดพอดี คลองนี้มีความยาว 8 กิโลเมตรเศษ โดยขุดตัดกับคลอง ดำเนินสะดวกไปทะลุคลองจีนดา จึงทำให้มองเห็นสภาพของวัดเจ็ดริ้ว ตั้งอยู่ริมคลอง ฝั่งตะวันตก ปัจจุบัน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวนเนื้อที่ 98 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา วัดนี้ตั้งขึ้นประมาณเกือบร้อยปีได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว แต่เดิมวัดนี้มีชื่อว่า “วัดรามัญวงศ์วราราม” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “วัดเจ็ดริ้วรามัญวงศ์” และ ในปัจจุบันนี้ชื่อว่า “วัดเจ็ดริ้ว” วัดเจ็ดริ้ว สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2436 โดยมีชาวเจ็ดริ้วเชื้อสายรามัญคือ กำนันไกร บ้านพาดหมอน ผู้ใหญ่อินทร์ ทองชิว กำนันตู้ บ้านดอนครุฑ นายยก ร้อยอำแพง นายเจริญ ร้อยอำแพง นายชู มอญใต้ นายเลาะ พึ่งบ้านเกาะ นายถึก ไวยาวัจกร พร้อมด้วยประชาชนได้ร่วมกันปรึกษาหารือ จะสร้างวัดไว้ประจำหมู่บ้าน เพราะวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เป็นสถานที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษา เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เป็นจุดรวมน้ำใจคนในหมู่บ้าน จึงได้กำหนดเอาวันอาทิตย์ซึ่งเป็น วันธงชัยเป็นวันยก เสาเอก ตามภาษิตที่ว่า “สร้างวัดวันอาทิตย์ สุขตามติดทุกวันไป มีโชคเพราะธงชัย แสนเปรมปรีดิ์ในอาราม” การดำเนินการก่อสร้างวัด และในระยะแรกการก่อสร้างใช้วัสดุพื้นบ้าน เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องซื้อจากร้านค้าบ้างลักษณะกุฏิหรือวัดแต่เดิมนั้น ใช้โครงไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้อง สร้างขึ้นไล่เลี่ยกันถึง 3 หลัง และหอฉันอีกหนึ่งหลัง ------------------------------------ อ้างอิง ข้อมูลจาก http://jedriew.freevar.com/Jedriew%๒๐temmple.htm
หอวัฒนธรรมลาวเวียงตั้งอยู่ที่ วัดโบสถ์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยพระอธิการบุตตา ได้สร้างกุฏิและวางรากฐานอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2370 มีชาวบ้านรวม 3 หมู่บ้าน ร่วมกันทำบุญกุศลอยู่ที่วัด ที่เสนาสนะต่าง ๆ เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาฌาปนสถาน ตลอดจนถาวรวัตถุภายในวัด วัดโบสถ์นี้แต่เดิมคือ วัดบ้านเลือกเหนือ ซึ่งเป็นวัดคู่กับ วัดบ้านเลือกใต้ (วัดบ้านเลือก) ต่อมาหลวงปู่อินทร์ (พระครูประสาทสังวรกิจ) ได้สร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่ เพื่อทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในวัดบ้านเลือกเหนือ เนื่องจากอุโบสถใหม่นี้มีความวิจิตรงดงาม ผู้คนที่เข้ามาเห็นต่างเล่าลือบอกต่อ ๆ กันว่า ที่วัดแห่งนี้มีโบสถ์ที่สวยงามยิ่งนัก ต่อมาคนจึงเรียกว่า วัดโบสถ์งาม และกร่อนมา “วัดโบสถ์” มาจนถึงปัจจุบันนี้
คอลเลกชั่นพิเศษของ ดร. อนาโตล เป็ลติเยร์ เอกสารโบราณเหล่านี้ ดร.อนาโตล เป็ลติเยร์ ได้มอบไว้ให้กับคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และทางคุณหญิงเองจึงได้มอบให้กับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่เอกสารโบราณเหล่านี้นอนนิ่งอยู่ในกล่อง ยังไม่มีการทำทะเบียนเอกสารฯ และทำสำเนาดิจิทัลมาก่อน ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทยเล็งเห็นว่า เอกสารเหล่านี้มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และการศึกษาไวยกรณ์ภาษาบาลี การศึกษาอักขรวิธีอักษรพม่า เนื่องจากคัมภีร์เหล่านี้ได้บันทึกด้วยตัวอักษรและภาษาบาลีที่ใช้ในช่วงยุคสมัยนั้น เมื่อนำมาทำสำเนาดิจิทัลแล้วให้บริการกับผู้ที่สนใจศึกษาคัมภีร์เหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาพุทธศาสนาไม่น้อย