คอลเลกชั่นพิเศษของคุณมนัสวี ผู้ได้รับมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นอันเป็นเอกสารตัวเขียน ท่านได้เล่าถึงที่มาที่ไปเอกสารชุดนี้ว่าเป็นของคุณปู่ ท่านประกอบอาชีพเป็นครูสอนศาสนานิกายซุนนีห์ จึงมีเอกสารเกี่ยวกับศาสนาอิสลามจำนวนหนึ่ง คุณมนัสวีเล่าให้ฟังต่อว่า “สมัยนั้นยังไม่มีความสนใจในเรื่องเหล่านี้จึงไม่เคยสอบถามอะไรไว้ และคุณปู่ก็เสียชีวิตไปเมื่อ พ.ศ.2475 น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่ได้เรื่องราวใด ๆ ไว้” ส่วนเอกสารโบราณเหล่านี้คุณมนัสวีไปพบที่บ้านหลังเก่าของคุณปู่ ถูกเก็บไว้ในห้องใต้หลังคา บ้านหลังนั้นไม่ได้รับความเสียหายจากระเบิดในช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ทำให้เอกสารโบราณเหล่านี้ไม่ได้รับความเสียและถูกค้นพบในเวลาต่อมา เอกสารตัวเขียนถูกเก็บไว้ในหีบไม้ เอกสารบางส่วนมีรอยเปื้อนซึมน้ำ ทำให้เอกสารโบราณติดกันเป็นปึกแกะไม่ออกบ้าง บางส่วนหลุดออกมาเป็นแผ่น ๆ แต่สภาพโดยรวมยังถือว่าเอกสารโบราณอยู่ในสภาพดี โดยเอกสารที่พบเป็นสมุดไทยขาว 1 เล่ม อักษรไทยและอักษรอาหรับ กล่าวถึงข้อปฏิบัติตามหลักของศาสนาอิสลาม เช่น การชำระล้างร่างกาย การละหมาด การถือศีลอด เป็นต้น ส่วนสมุดฝรั่งนั้นมีหลายเล่ม จึงขอยกเล่มที่น่าสนใจ อาทิ คัมภีร์อัลกุรอาน อักษรอาหรับ การตกแต่งด้วยการลงสีอย่างสวยงาม และเย็บกี่เข้าเป็นเล่มเดียวกัน เนื่องจากคัมภีร์อัลกุรอานบางแห่งจะจัดเก็บเป็นเล่มเล็ก ๆ แยกเฉพาะบทเท่านั้น อาจเป็นในเรื่องความสะดวกในการหยิบมาใช้ หรือการพกพาก็เป็นได้
คอลเลกชั่นพิเศษของ ดร. อนาโตล เป็ลติเยร์ เอกสารโบราณเหล่านี้ ดร.อนาโตล เป็ลติเยร์ ได้มอบไว้ให้กับคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และทางคุณหญิงเองจึงได้มอบให้กับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่เอกสารโบราณเหล่านี้นอนนิ่งอยู่ในกล่อง ยังไม่มีการทำทะเบียนเอกสารฯ และทำสำเนาดิจิทัลมาก่อน ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทยเล็งเห็นว่า เอกสารเหล่านี้มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และการศึกษาไวยกรณ์ภาษาบาลี การศึกษาอักขรวิธีอักษรพม่า เนื่องจากคัมภีร์เหล่านี้ได้บันทึกด้วยตัวอักษรและภาษาบาลีที่ใช้ในช่วงยุคสมัยนั้น เมื่อนำมาทำสำเนาดิจิทัลแล้วให้บริการกับผู้ที่สนใจศึกษาคัมภีร์เหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาพุทธศาสนาไม่น้อย
สมบัติส่วนบุคคลของคุณศุภเดช จังหวัดสุราษฏร์ธานี ให้ความอนุเคราะห์นำเอกสารโบราณเหล่านี้มาจัดทำสำเนาดิจิทัลเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้สนใจ เอกสารโบราณชุดนี้ภาคใต้เรียกว่า หนังสือบุด มีความน่าสนใจตรงที่เป็นเอกสารโบราณของทางภาคใต้ที่มักไม่ค่อยมีการเผยแพร่ออนไลน์ ซึ่งเราจะเห็นได้ถึงคำศัพท์เฉพาะถิ่นและสำนวนต่างๆ ที่น่าสนใจ คอลเลกชั่นพิเศษของคุณศุภเดชมีทั้งสิ้น 6 ฉบับ อยู่ในหมวดตำราเวชศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ และไสยศาสตร์ เขียนด้วยอักษรขอมไทย ภาษาบาลี และอักษรไทย ภาษาไทยถิ่นใต้
หมอเห สายโกสินทร์ (สกุลเดิม จงกลนี) เป็นหมอยาพื้นบ้านที่ได้รับความนับถือจากผู้คนในชุมชนวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม นอกจากนี้หมอเห เองยังเป็นเจ้าพิธีกรรมต่างๆ ด้วย หากบ้านใด้มีงานทำบุญ งานแต่งงาน งานทำขวัญ หมอเหก็จะไปช่วยเป็นเจ้าพิธีในงานนั้นๆ หมอเหร่ำเรียนวิชาแพทย์แผนไทยสมัยเมื่อยังบวชเรียนที่วัดท่าพูด ต่อมาเมื่อสึกเป็นฆราวาสก็ได้ใช้วิชาแพทย์แผนไทยของท่านช่วยรักษาโรคภัยให้ชาวบ้าน ปัจจุบันหมอเห สายโกสินทร์ได้สิ้นไปแล้ว แต่มีทายาทเป็นลูกสาวชื่อ คุณป้าเสน่ห์ ที่ยังเก็บรักษาเอกสารโบราณที่เป็นสมบัติส่วนตัวของหมอเห สายโกสินทร์ไว้อยู่ ทางงานเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จึงได้ชักชวนให้โครงการสำรวจ รวบรวม และศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นภาคตะวันตก และฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ไปร่วมสำรวจ จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณ และถ่ายสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ ตลอดจนห่อผ้าเก็บรักษาเอกสารโบราณ