คอลเลกชั่นพิเศษของ ดร. อนาโตล เป็ลติเยร์ เอกสารโบราณเหล่านี้ ดร.อนาโตล เป็ลติเยร์ ได้มอบไว้ให้กับคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และทางคุณหญิงเองจึงได้มอบให้กับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่เอกสารโบราณเหล่านี้นอนนิ่งอยู่ในกล่อง ยังไม่มีการทำทะเบียนเอกสารฯ และทำสำเนาดิจิทัลมาก่อน ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทยเล็งเห็นว่า เอกสารเหล่านี้มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และการศึกษาไวยกรณ์ภาษาบาลี การศึกษาอักขรวิธีอักษรพม่า เนื่องจากคัมภีร์เหล่านี้ได้บันทึกด้วยตัวอักษรและภาษาบาลีที่ใช้ในช่วงยุคสมัยนั้น เมื่อนำมาทำสำเนาดิจิทัลแล้วให้บริการกับผู้ที่สนใจศึกษาคัมภีร์เหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาพุทธศาสนาไม่น้อย
“วัดหนัง” หรือ “วัดหนังราชวรวิหาร” ตามประวัติวัดนั้นสร้างเมื่อ พ.ศ.2260 หรือช่วงรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ สมัยก่อนแถววัดหนังอยู่เขตอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เมื่อรวมธนบุรีเข้ามาเป็นกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก วัดหนังก็ย้ายเข้ามาอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ยังปรากฏป้ายเก่าของวัดขณะที่ยังสังกัดจังหวัดธนบุรีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด วัดหนังเป็นวัดเก่าแก่ในย่านนี้ และมีวัดในแถบใกล้ๆ กันอีกหลายวัดจนมีเรื่องเล่าว่า วัดในแถบนี้มีวัดสามพี่น้องคือ วัดหนัง วัดนางนอน และวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร และที่ใกล้กันนั้นก็มีวัดศาลาครึนด้วย วัดนางนองราชวรวิหารและวัดราชโอรสารามราชวรวิหารนั้นบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งศิลปะที่ปรากฏอยู่ที่วัดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะแบบจีน ส่วนวัดหนังนี้พระราชมารดาของรัชกาลที่ 3 ทรงให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหนังขึ้นใหม่ แต่ให้มีความเป็นไทยผสมอยู่มากกว่าวัดนางนองและวัดราชโอรสารามฯ แต่ก็ยังมีศิลปะแบบจีนปนอยู่บ้าง พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิต และประวัติความเป็นมาของพื้นที่ย่านเขตจอมทอง คิดริเริ่มและลงมือจัดทำช่วง พ.ศ.2545 สมัยพระธรรมศีลาจารย์เป็นเจ้าอาวาส โดยมีพระครูสมุห์ไพฑูรย์ สุภาฑโร (ปัจจุบันลาสิกขาบทแล้ว) และบรรดาลูกศิษย์ในย่านวัดหนังช่วยกันก่อตั้งและจัดหาวัตถุจัดแสดง