วัดบ้านโพธิ์ ตั้งอยู่เลขที่ 75 หมู่ที่ 11 ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 6 แปลง เนื้อที่ 47 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา
ที่มาของชื่อวัด มาจากภายในบริเวณมีต้นโพธิ์ขึ้นเยอะ ชาวบ้านจึงนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อวัดที่เรียกว่า วัดบ้านโพธิ์
วัดบ้านโพธิ์ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2417 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2482
วัดบ้านโพธิ์ เป็นวัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องคฺการมหาชน) เคยมาสำรวจครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2555 และครั้งที่ 2 วันที่ 5-7 สิงหาคม 2562 และมาทำทะเบียน ทำสำเนาดิจิทัลเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562 และ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
พระอธิการบุญสม นาถสีโล เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ท่านพาคณะสำรวจประกอบด้วย นายดอกรัก พยัคศรี (นักวิชาการ) นายสมศักดิ์ แก้วนุช (เจ้าหน้าที่ประสานงาน) นางสาวนิสา เชยกลิ่น (เจ้าหน้าที่ฐานข้อมูล) และนายศุภกรานต์ พุ่มพฤกษ์ (เจ้าหน้าที่โสตทัศน์) ได้ไปลงพื้นที่วัดบ้านโพธิ์ จังหวัดราชบุรี ไปดูเอกสารโบราณที่เก็บเอาไว้ในห้องเก็บของใต้ถุนศาลาการเปรียบ ซึ่งเต็มไปด้วยข้าวของที่ชาวบ้านเอามาทำบุญเช่น หลอดไฟ กรอบรูป หนังสือ ธูปเทียน พัดลมที่ชำรุด เป็นต้น ขาวของเหล่านี้วางทับอยู่บนกล่องที่ใส่คัมภีร์ใบลานที่วางไว้กับพื้น คัมภีร์ใบลานของวัดนี้มีความเสี่ยงในเรื่องความชื้น และน้ำท่วมได้ คัมภีร์ใบลานชุดนี้เก็บไว้ที่จุดเดิมตามข้อมูลที่ฐานข้อมูลเอกสารโบราณฯ เคยจ้างสำรวจเมื่อ พ.ศ.2555 โดยมีกล่องไม้ใส่คัมภีร์ใบลานประมาณ 15 กล่อง กล่องไม้ที่มีใบลานประมาณ 6 กล่อง กล่องไม้เป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฝาปิด กล่องหนึ่งสามารถใส่ใบลานได้ 5-6 ผูก ขึ้นอยู่กับความหนาของเรื่องนั้นๆ ไม่มีลวดลาย ด้านในกล่องไม้บางกล่องพบข้อความที่เขียนเป็นภาษาไทยระบุว่า ใครเป็นผู้สร้างคัมภีร์ เป็นต้น บางกล่องพบผ้าห่อคัมภีร์แม้จะเปื่อยไปตามกาลเวลาแต่ยังคงสีสันสดใสให้เห็น เนื่องจากถูกปล่อยปละละเลยเป็นเวลานาน ประกอบกับสถานที่เก็บรักษาไม่เอื้ออำนวย มีความชื้นสูง ทำให้สภาพเอกสารบางส่วนอยู่ในสภาพชำรุด ชื้น กรอบ มีเศษฝุ่น ขี้จิ้งจก เศษไข่จิ้งจก และรอยแมลงกัดแทะ
พระอธิการบุญสม นาถสีโล อนุญาตให้คณะสำรวจทำทะเบียน ถ่ายภาพเอกสารโบราณ และสามารถเผยแพร่เอกสารโบราณของวัดในเว็บไซต์ฐานข้อมูลฯ ได้
การทำความสะอาดเอกสารโบราณ เริ่มจากกำจัดสิ่งสกปรกออกจากตัวเอกสาร ส่วนผ้าห่อคัมภีร์ที่พบแยกไว้อีกส่วน ปัญหาที่พบคือใบลานติดกับเป็นปึก ต้องใช้เวลาและความระมัดระวังเป็นอย่างมากในการแกะออกมา ถึงแม้ว่าใบลานจะมีความชื้นสูงแต่ก็มีความกรอบเช่นกัน หากไม่ระวังอาจทำให้ใบลานหักได้ หลังจากที่แกะใบลานออกเป็นใบๆ แล้ว นำไปเช็ดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 95% ที่ละใบ จากนั้นผึ่งลมให้แห้ง ก่อนจะนำไปทำทะเบียน ถ่ายภาพเอกสารโบราณ จากนั้นนำมาจัดหมวดหมู่ ทำป้ายชื่อกำกับ และห่อผ้า ส่วนคัมภีร์ที่ไม่สมบูรณ์ที่ไม่สมบูรณ์นั้น ทำความสะอาด ห่อให้เรียบร้อย แต่ไม่มีได้การทำสำเนาดิจิทัลเอกสารชุดที่ชำรุดนั้น
อ้างอิงข้อมูล
ประวัติวัดบ้านโพธิ์. จาก https://www.lovethailand.org/travel/th/13-วัดบ้านโพธิ์.html.