วัดใหม่นครบาล

ชื่อ
วัดใหม่นครบาล
ประเภท
วัด
ที่อยู่
วัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี
ตำบล
ดอนตะโก
อำเภอ
เมืองราชบุรี
จังหวัด
ราชบุรี
คำสำคัญ

วัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ตั้งขึ้นจากการขยายตัวของชุมชน 2 หมู่บ้านได้แก่ ชุมชนบ้านนครบาลและชุมชนบ้านใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยยวนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยแต่เดิมเป็นชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อชุมชนบริเวณดังกล่าวหนาแน่นมากขึ้น จึงได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนตั้งรกรากที่บริเวณเมืองราชบุรี อยู่รวมกันเป็นชุมชนชาวไทยยวนขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่เมืองโบราณคูบัว เอกสารโบราณของวัดถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีภายในตู้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ของวัด เอกสารโบราณดังกล่าวท่านพระครูพัฒนกิจสุนทรได้รวบรวมมาจากวัดในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่ไม่สามารถดูแลรักษาไว้ได้หรือไม่ให้ความสำคัญต่อเอกสารโบราณ รวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ ด้วย จากการสำรวจพบว่า เอกสารโบราณประเภทใบลานบางส่วนได้รับการจัดทำทะเบียนโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติไว้แล้ว

ท่านพระครูพัฒนกิจสุนทร (สังข์ ชิตมาโร) อดีตเจ้าวัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ท่านมีเชื้อสายชาวไทยยวน เป็นพระสงฆ์ 1 ในจำนวน 2 รูป ของชุมชนชาวไทยยวนคูบัว ที่ยังคงสวดมนต์และประกอบพิธีแบบไทยวนอยู่ อีกท่านหนึ่งคือท่านพระครูวินัยธร โชติโย เจ้าอาวาสวัดทุ่งหญ้าคมบาง พระครูพัฒนกิจสุนทร หรือหลวงพ่อสังข์ ท่านได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุรวมถึงเอกสารโบราณมาจากวัดต่างๆ ภายในเขตชุมชนไทยยวน โดยมีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาทางด้านอักษรและภาษาไทยวน ให้อยู่คู่ชุมชน เพื่อที่จะรักษาไว้ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดินสืบไป แต่ขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์และงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าแก่ผู้ที่สนใจ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นสืบไป

เอกสารโบราณที่รวบรวมไว้มีทั้งที่เป็นอักษรไทย อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนา เป็นที่น่าสนใจที่ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบอักษรและอักขรวิธีของอักษรธรรมล้านนา รวมถึงการศึกษาทางด้านคติชนวิทยา มานุษยวิทยา สังคมวิทยา และพุทธศาสนา กับเอกสารโบราณของพื้นที่เขตวัฒนธรรมล้านนา อันจะช่วยให้เห็นความแตกต่างหลากหลายกลุ่มชนที่อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมต่างกันได้เป็นอย่างดี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง