บทความ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 92 รายการ (12 หน้า)

ตำรายาและครรภ์ทรักษา ฉบับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา

กล่าวถึง โรค อาการเจ็บป่วย และสูตรยาสำหรับรักษาโรคนั้นๆ อาทิ ยารักษาฝี ยาแก้ตะคริว ยาแก้ขัดเบา ยาแก้กาฬ ยาอาจารย์อัมวัดตะหลุก ยาทิพย์ไสยาสน์ ยาดองแก้เลือดหญิงอยู่ไฟไม่ได้ ยาบำรุงโลหิต ยาไฟประลัยกัลป์ ยาประจุไข้เหนือ ยาพินทุกาฬ ยามหานิลแท่งทอง ยาเนาวโกฐ และยาครรภ์ทรักษา ฯลฯ

คาถาหัวใจต่างๆ

คาถาหัวใจ หรือ หัวใจพระคาถา เป็นบทย่อของพระคาถาซึ่งถอดออกมาเป็นคำสั้นๆ เพื่อให้จดจำได้รวดเร็วแต่ยังคงความหมายและความศักดิ์สิทธิ์ไว้เช่นเดิม คาถาหัวใจที่ปรากฏในสมุดไทย อาทิ หัวใจพระมหาชนก หัวใจพระเพชร หัวใจพระสุวรรณสาม หัวใจตรีนิสิงเห หัวใจพระเตมีย์ หัวใจงู หัวใจคน เป็นต้น นอกจากคาถาที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ยังมีคาถาหัวใจที่กล่าวถึงนอกเหนือจากคาถาหัวใจ 108 อีกด้วย เช่น หัวใจนภา หัวใจมงคล เป็นต้น<br />
<br />
การตั้งพิธีตีแถลงหรือแสลงก็ได้ ผู้ปริวรรตเข้าใจว่าเป็นพิธีที่ตั้งขึ้นเพื่อปัดพิษร้าย คุณไสยต่างๆ ให้ออกจากจากร่างกายของคน และโองการมหาเถรตำแย

ตำรายาเกร็ดต่าง ๆ

ตำรายาเกล็ด หรือ ยาเกร็ด ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า ยาที่ไม่ใช่ยาตำราหลวง หรือเรียกอีกชื่อว่า ยากลางบ้าน เป็นยาที่ชาวบ้านเชื่อถือและใช้สืบทอดกันต่อ ๆ มา
ในตำรายาเกล็ดฉบับนี้ กล่าวถึง อาการของโรคและตำรับยาในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ยาแก้แสียงแห้ง ยาปลุกเลือด ยารุเลือด ยาพรหมพิทักษ์ ยาถ่ายเลือดรุได้สารพัด ยามหาไว ยาถ่ายสารพัดคุณไสย ยาดองเลือดผอมแห้งท้องโต ยากวนกินแก้เลือดผอมท้องโต ยากินตัดราก ยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ยามหาเมฆ ยามหานิล ยาต้มแก้ร้อนใน ยาสว่างอารมณ์ ยาแก้ไข้สำหรับไข้เชื่อมมัวจับหัวใจ ยากัดเลือดกรัง ยาต้มแก้เลือดร้าง ยาเหลืองแก้ลมจุกเสียด ยาอายุวัฒนะ ยาเสียงแห้ง เป็นต้น และแทรกเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นคาถาสั้นๆ เช่น คาถาเสกน้ำมันดิบเหยียบเหล็ก คาถาสะเดาะลูกในท้อง คาถาตัดปาง เป็นต้น

ตำรายาโรคเลือด

ภายในเล่มกล่าวถึง เรื่องไข้ และยาแก้ไข้ต่างๆ ตำราเลือดท้น ซึ่งกล่าวถึงโรคที่เกี่ยวกับโลหิตโดยเฉพาะโลหิตสตรี เช่น ยาขับเลือดหญิงมิถึงระดู ยาดองขับเลือด ยาแก้ออกลูกเลือดมิตก ยารุเลือดเน่าในท้อง เป็นต้น
ในตอนท้ายกล่าวถึง คัมภีร์โรคนิทาน อันเป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยโรคที่เกิดจากธาตุต่างๆ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ

ตำราฝีมะเร็ง

เนื้อหาด้านในพบกับภาพเขียนลายเส้นของยักษ์ และบอกตำแหน่งชื่อฝีในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่กล่าวถึงโทษของฝีแต่ละชนิด ตำแหน่งการเกิดฝี ระยะเวลาการเกิดฝี ลักษณะของเม็ดฝี ตลอดจนการใช้สมุนไพรรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยเนื่องจากฝี

ณรงคจิตรชาดก

ณรงคจิตรชาดก เป็นกลอนสวดที่ไม่พบที่มาของเรื่อง เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่แต่งเลียนแบบชาดก โดยผู้แต่งเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องชาดก คือใช้ชื่อเรื่องเป็นชาดกและเนื้อเรื่องก็กล่าวถึงผลของบุรพกรรมซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ในชาติปัจจุบัน ตัวละครเอกจะใช้คำว่า “หน่อศาสนา” และ “โพธิสัตว์” และตอนท้ายมีประชุมชาดก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผู้แต่งต้องการให้เห็นว่าเรื่องที่ตัวเองแต่งมีความสำคัญ น่าเชื่อถือ และได้อานิสงส์อีกด้วย

พระมาลัย ฉบับวัดดอนขนาก

การเดินทางของพระมาลัย เพื่อไปโปรดสัตว์ในนรก และเทวดาบนสวรรค์ ซึ่งได้พบกับพระอินทร์ และเทวดาผู้ที่จะจุติลงมาเป็นพระศรีอาริยเมตไตรในอนาคต พระมาลัยฉบับวัดดอนขนากนี้ แต่งด้วยฉันทลักษณ์ที่เรียกว่า “กลอนสวด” ซึ่งประกอบไปด้วยกาพย์ชนิดต่างๆ 3 แบบ อันได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 นอกจากนี้ยังพบชื่อทำนองสวดพระมาลัย 5 ทำนองได้แก่ ฉันท์ เชิด ราบ มังกร วสันต์ และเอกบท

พระตำรับเลขเจ็ดตัว

พระตำรับเลขเจ็ดตัว เป็นตำราโหราศาสตร์อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก ได้แก่ วันจม วันฟู วันลอย, การดูสมพงษ์, ฉัตรสามชั้น, ตำรับชั้น, เทพจร และตำรายาแก้โรคกระษัยต่างๆ ซึ่งอยู่ในช่วงท้ายของหน้าต้นต่อไปจนถึงหน้าปลายและเขียนด้วยดินสอ จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ในส่วนที่เป็นเรื่องของตำรายาสมุนไพรนั้นเขียนขึ้นคนละคราวกับพระตำรับเลขเจ็ดตัว และโหราศาสตร์เรื่องอื่นๆ