หน้าต้นเป็นวรรณคดีไทย โดยมีชื่อตัวละคร อาทิ พระสุริวงศ์ นางศุภลักษณ์ นางอุษา เป็นต้น ส่วนหน้าปลายเป็นการบันทึกเรื่องทั่วไป เนื้อหาไม่ปะติดปะต่อนัก
ตำรายาว่าด้วยเรื่องไข้สันนิบาต สูตรยาสมุนไพรแก้โรคสันนิบาตต่างๆ เช่น สันนิบาตเลือด สันนิบาตนางนวล เป็นต้น แล้วกล่าวถึงกำเนิดไข้ดาวโคมตัวผู้ ไข้ดาวเรือง
วรรณกรรมเรื่อง พระสี่เสาร์ หรือพระสี่เสาร์กลอนสวดนี้ มีที่มาจากชาดกนอกนิบาตคือ ปัญญาสชาดก โดยนำเนื้อ เรื่องจาก “สิโสรชาดก” มาแต่งเป็นวรรณกรรมกลอนสวด ชาดกในปัญญาสชาดกถือว่ามีอิทธิพลในการสร้างสรรค์งาน วรรณกรรมร้อยกรองของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น เรื่องสมุทรโฆษ เรื่องพระรถเสน เรื่องพระสุธน เป็นต้น สำหรับ เรื่องพระสี่เสาร์นี้ หมื่นพรหมสมพัตสร(มี) กวีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นกล่าวถึงใน “นิราศเดือน” ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหาเวสสันดรฉบับนี้ ผู้เขียนได้บอกในตอนท้ายว่าได้เขียนตั้งแต่ต้นคือ กัณฑ์ทศพร จนถึงกัณฑ์นครกัณฑ์ ทั้งหมดสิบสามกัณฑ์ แต่ที่พบมีเพียงกัณฑ์วนปเวสน์จนถึงกัณฑ์นครกัณฑ์เท่านั้นรวมสิบกัณฑ์ เนื่องจากเอกสารไม่สมบูรณ์ เขียนด้วยฉันท์และกาพย์ ตอนสุดท้ายมีประชุมชาดก นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นแทรกเข้ามาด้วย ได้แก่ เรื่องการคบมิตรที่ยกเอานิทานธรรมเรื่องนกแขกเต้ามาเป็นตัวอย่าง เรื่องมงคลทีปนี เกี่ยวกับการไม่คบคนพาล โดยยกนิทานธรรมเรื่องพระเทวทัตกับเจ้าชายอชาตศัตรู
ตอนต้นกล่าวถึงตำรับยาแก้ไข้จับสั่นสะท้าน ต่อมาเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ยันต์ โองการ คาถาต่างๆ เช่น คาถาเสกแป้งคลึงลมเพลมพัด คาถาปิดทางอบายภูมิ คาถาเสกขี้ผึ้งติดชายผ้า เป็นต้น
ณรงคจิตรชาดก เป็นกลอนสวดที่ไม่พบที่มาของเรื่อง เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่แต่งเลียนแบบชาดก โดยผู้แต่งเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องชาดก คือใช้ชื่อเรื่องเป็นชาดกและเนื้อเรื่องก็กล่าวถึงผลของบุรพกรรมซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ในชาติปัจจุบัน ตัวละครเอกจะใช้คำว่า “หน่อศาสนา” และ “โพธิสัตว์” และตอนท้ายมีประชุมชาดก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผู้แต่งต้องการให้เห็นว่าเรื่องที่ตัวเองแต่งมีความสำคัญ น่าเชื่อถือ และได้อานิสงส์อีกด้วย ณรงคจิตรชาดกในต้นฉบับเอกสารสมุดไทยดำฉบับวัดท่าพูดนี้ มีเนื้อเรื่องบางตอนสลับที่กัน โดยเปรียบเทียบกับเนื้อเรื่องในภาคผนวกของณรงคจิตรชาดกฉบับที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์แล้ว และสันนิษฐานว่าเกิดจากการคัดลอกที่คลาดเคลื่อนไป เพื่อความสะดวกในการอ่านและความสมบูรณ์ของเนื้อหา ผู้เรียบเรียงจึงขอสลับเนื้อเรื่องบางตอนให้ตรงกับฉบับที่นำมาสอบทาน และขอแก้ไข เพิ่มเติมคำหรือความที่คาดว่าน่าจะเขียนตกหล่นไปโดยจะใส่คำหรือความเหล่านั้นไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ
สมุดไทยขาวเล่มนี้ ระบุชื่อภายในเล่มว่า “คัมภีร์ยาเกร็ดแผนโบราณ” คัดลอกโดย หมอเห สายโกสินทร์ แพทย์แผนโบราณ ชั้น 2 โดยมีความประสงค์ที่จะรวบรวมตำรับตำรายาแผนโบราณของครูบาอาจารย์ต่างๆ มาเขียนไว้ในที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกในการใช้งานของหมอเหเอง
เนื้อหาของเรื่องจินดามณีนั้นเป็นแบบการเรียนการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา และการประพันธ์บทร้อยกรองประเภทต่างๆ พื้นฐานด้านอักขรวิทยา เช่น อักษรศัพท์ ว่าด้วยคำศัพท์ที่มักเขียนผิด ความหมายของศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และเขมร ตัวอย่างคำที่ใช้ ส, ศ, ษ ตัวอย่างคำที่ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย เป็นต้น ด้านบทประพันธ์ร้อยกรอง ได้อธิบายโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนประเภทต่างๆ รวมทั้งยกตัวอย่างฉันทลักษณ์นั้นๆ ประกอบด้วย