วัดท่าข้าม เดิมชื่อ “วัดปากลัดท่าคา” มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า มีนายพราน 3 คน ไล่ตามคล้อง ช้างหัวเสือ (บริเวณตําบลบางช้างในปัจจุบัน) นายพรานทั้ง 3 ได้เดินมาถึงวัดท่าข้าม และข้ามแม่น้ำนครชัย ศรีไป เพื่อไปคล้องช้าง ชาวบ้านเรียกสืบต่อกันมาว่า “ท่าข้าม” และเรียกชื่อวัดว่า “วัดท่าข้าม” ตาม เหตุการณ์ดังกล่าว โดยตําบลที่นายพรานทั้ง 3 ข้ามแม่น้ำไปจึงถูกเรียกว่า “ตําบลสามพราน” (ข้อมูลจาก หนังสือ “วัดท่าข้าม ทางดี”, ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่ พระครูเกษมธรรมรักษ์ (หลวงพ่อยะ เขมปาโล) วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2530) สหายการพิมพ์ : กาญจนบุรี, 2530.) คณะทํางานเข้าสํารวจเอกสารโบราณ ณ วัดท่าข้าม ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม ทราบจากพระลูกวัดว่า พระมงคลสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสอาพาธและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จึงได้แนะนําให้เข้าพบกับพระมหาองอาจ ญาณวีโร รักษาการเจ้าอาวาส เพื่อสอบถามถึงเอกสารโบราณของทางวัด ท่านพระมหาองอาจให้ข้อมูลว่า เอกสารโบราณบางส่วนใหญ่ถูกไฟไหม้ไปพร้อมศาลา บางส่วนที่เหลือรอดมาก็ถูกน้ำท่วม เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ เอกสารโบราณเหล่านี้แช่อยู่ในน้ำ ท่านพระมหาองอาจได้เก็บรวมรวมมาไว้ได้เพียงบางส่วน
วัดเทียนดัด ตั้งอยู่เลขที่ 66 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เล่ากันว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2312 ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตก แล้วหมู่พระสงฆ์ได้หนี้พวกพม่ามาพักในบริเวณนี้ ชาวบ้านจึงได้สร้างวัดเพื่อให้พระสงฆ์ ได้อยู่จำพรรษา วัดนี้แต่เดิมนั้นมีต้นเกดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงได้ชื่อว่า “วัดดงเกด” แล้วเปลี่ยนมาเป็น “วัดกระแชงดาด” วัดเชิงดาดคงคาวน และ “วัดเชิงดาดคงคาวล” ต่อมาเมื่อครั้งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จผ่าน และแวะเยี่ยมที่วัดแห่งนี้ ท่านได้ตั้งนามของวัดให้ใหม่ว่า “วัดเทียนดัด” หลักฐานเก่าแก่ของวัดที่ยังคงเหลืออยู่บ้าง ได้แก่ อุโบสถหลังเก่า สร้างหันหน้าไปทางแม่น้ำ ด้านหน้ามีพาไลหรือหลังคาคลุมทอดลงมา ใบเสมาตรงเอวทำเป็นลวดลายก้านขดสลับไปคล้ายกับใบเสมาที่วัดหอมเกร็ด ในอดีตวัดแห่งนี้มีพระเถรซึ่งมีชื่อเสียงมาก ได้แก่ พระครูปลัดผัน ติสฺสวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 4 และพระครูอาทรพิทยคุณ (ผล ธมฺมโชติ) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ซึ่งท่านทั้ง 2 มีชื่อเสียงทางด้านการสร้างพระและเครื่องรางของขลัง องค์สุดท้ายได้แก่ พระครูมนูญ กิจจานุวัตร (แสวง ธมฺรโส) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 6 ดังนั้น วัดเทียนดัดในทุกวันนี้จึงได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีสิ่งก่อสร้างขึ้นอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลักฐานในอดีตหลงเหลืออยู่น้อยมาก จนบางครั้งทำให้ดูเหมือนกับว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดสร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบัน หลักฐานเหล่านี้ได้บันทึกไว้ในหนังสือทางประวัติศาสตร์ชื่อ วัฒนธรรมสามพราน วัดเทียนดัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2480 ข้อมูลจาก http://m-culture.in.th/album/view/150592/
วัดลำพญา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี ในเขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของจังหวัด เนื่องจากมีตลาดน้ำที่ทางวัดและชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 โดยสร้างแพลงไปในแม่น้ำ ภายในขายอาหารคาวหวานนานาชนิด รวมถึงมีบริการล่องเรือชมวิถีชีวิตริมน้ำด้วย นอกจากนี้วัดลำพญายังเป็นศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลลำพญา ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งของศูนย์บูรณาการฯ คือต้องจัดให้มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน สันนิษฐานได้ว่าพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญาเกิดขึ้นด้วยเหตุดังกล่าว พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตลาดน้ำวัดลำพญา เป็นอาคารทรงไทยใต้ถุนสูง สร้างติดแม่น้ำนครชัยศรี อยู่ภายในบริเวณวัดลำพญา เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในปี 2543 ชั้นล่างจัดแสดง เรือพื้นบ้านต่าง ๆ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร อาทิ เครื่องสีข้าว คันไถ รูปปั้นควายจำลอง เป็นต้น ส่วนชั้นบนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องลายคราม เครื่องแก้ว เครื่องปั้นดินเผา ไหกระเทียม ไหใส่พลู ที่ปั้มลมสำหรับทำทองรูปพรรณ หินบดยา ฝาละมีบดยา เครื่องมือจับปลา เครื่องมือชั่งตวงวัด เครื่องจักสาน เตารีด พัดลม โทรศัพท์ วิทยุ และโทรทัศน์รุ่นอดีต ภาชนะสังกะสีเคลือบ หมวกกะโล่ ตะเกียงลาน หีบพระธรรม ธรรมมาสน์ สมุดไทย ภาพถ่ายในอดีตของวัด ธนบัตรรุ่นเก่า กระดองตะพาบน้ำ เป็นต้น ของที่จัดแสดงได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะมีแผ่นกระดาษเขียนชื่อของผู้บริจาคติดอยู่กับของชิ้นนั้น ๆ โดยผู้บริจาคสิ่งของให้แก่พิพิธภัณฑ์จะได้รับใบอนุโมทนาบัตรจากสภาวัฒนธรรมตำบลลำพญาด้วย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ บริหารจัดการโดยวัดลำพญาและสภาวัฒนธรรมตำบลลำพญา ทางพิพิธภัณฑ์มีผู้ดูแลและให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชม โดยท่านหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของวัด ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นครูโรงเรียนวัดลำพญา โดยจะผลัดเปลี่ยนเวรกันมา ข้อมูลจาก : ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/index.php
วัดบางช้างเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ 79 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2370 ในแผ่นดินรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมชื่อ วัดใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ.2459 สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจเยี่ยมวัดต่าง ๆ ในเขตอำเภอสามพราน และตรัสให้เรียกใหม่ว่า วัดบางช้างเหนือ โบราณสถานเก่าแก่ของวัดได้แก่อุโบสถหลังเก่ามีขนาดค่อนข้างเล็กตั้งอยู่ด้านหน้าติดริมแม่น้ำนครชัยศรี หรือแม่น้ำท่าจีน ภายในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐมอญแล้วปั้นปูนพอกทับอีกชั้นหนึ่งศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 ทางวัดได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นและทำพิธีเททองพระประธานเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ มาเททอง พระพุทธชินราชจำลองซึ่งประดิษฐานอยู่ในอุโบสถและทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ไว้ทางซ้ายของอุโบสถ วัดบางช้างเหนือ ได้ประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 ในอดีตพระเถระที่มีชื่อเสียงของวัดนี้ ได้แก่ หลวงปู่จ้อย อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 2 พระครูปลัดผัน (ดิสฺสสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 5 และพระครูวุฒิกรโศภณ (สงัด อุคฺคเสโน) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 6 ปัจจุบันมีพระพิพัฒน์ศึกษากร เป็นเจ้าอาวาส ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/150597/วัดบางช้างเหนือ/)
ตามประวัติของวัดบางช้างใต้ได้กล่าวไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2335 ในแผ่นดินรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ต่อมาในปี พ.ศ. 2400 ทางวัดได้สร้างพระอุโบสถหลังที่ 2 ขึ้นมาใหม่แทนหลังแรกซึ่งถูกไฟไหม้ และได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดเก่าแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาด้วยเรือพายม้า พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวมีนามว่าหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ประทับนั่งอยู่ในปางสมาธิ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนบุษบกภายในอุโบสถหลังที่ 3 ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 หรืออุโบสถหลังปัจจุบัน วัดบางช้างใต้เดิมชื่อ “วัดบางช้าง” พระเถระที่มีชื่อเสียงของวัดบางช้างใต้นี้ ได้แก่ พระครูวินัยธร (ใย กิตฺติธโร) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 6 หลักฐานเหล่านี้ได้บันทึกไว้ในหนังสือทางประวัติศาสตร์ชื่อ วัฒนธรรมสามพราน วัดบางช้างใต้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2479 ปัจจุบันมีพระครูอรุณธรรมวิสุทธิ์ เป็นเจ้าอาวาส
วัดดอนขนาก เดิมเป็นที่ดอนมีต้นป่าขนากขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนที่อาศัยอยู่ได้เรียกชื่อตามการอนุรักษ์ของท้องถิ่นที่มีป่านั้นว่า ดอนขนาก ต่อมาได้จัดสร้างเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดย นายไล้ อยู่สิริ บริจาคที่ดินเป็นที่สำนักสงฆ์ จำนวน 8 ไร่ และ นายหยก กิ่มเพชร บริจาคที่ดินเป็นที่สำนักสงฆ์ จำนวน 4 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา รวมที่ดินทั้งหมด 12 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา ต่อมามี นายพุฒ นางอ่วม นายนาค และนายบุตร มีจิตศรัทธาสร้างกุฏิขึ้นรวม 2 หลัง เป็นแบบทรงไทยโบราณ จึงได้นิมนต์พระภิกษุวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม มาจำพรรษา รวม 5 รูป โดยมี พระอาจารย์จ๊ะ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสรูปแรก ครั้นต่อมามีเหตุการณ์ผลัดเปลี่ยนผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสอีกหลายรูป จนถึง พ.ศ. 2499 พระอธิการศรีทอง อังสุทตฺโต เจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัตถุเจริญรุ่งเรืองมาก
วัดท่าพูด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี เดิมชื่อว่า “วัดเจตภูต” โดยมีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมาว่า มีพี่น้องสองคนนั่งอยู่ใกล้จอมปลวกใหญ่พอพี่ชายนอนหลับไป น้องชายมองเห็นตัวแมงดาวเรืองคลานออกมาจากจมูกของพี่ชายและมันก็คลานหายเข้าไปในจอมปลวก ต่อมาตัวเองก็นอนหลับไปเช่นกันและฝันไปว่ามีภูติมาบอกว่ามีทรัพย์สมบัติกองอยู่มากมายในภูเขา ขอให้ขุดเอามาขายเพื่อเอาเงินสร้างวัด พอสะดุ้งตื่นขึ้นมาจึงเล่าเรื่องให้พี่ชายฟัง จากนั้นจึงได้ช่วยกันขุดดินหาสมบัติแต่ไม่พบ จึงได้หวนนึกถึงเรื่องที่ภูติมาบอกและตัวแมงดาวเรืองเดินเข้าไปในจอมปลวก จึงขุดค้นดูในจอมปลวกและได้ทรัพย์สมบัติมามากมายจึงเอามาขายเพื่อนำเงินมาสร้างวัดตามความฝันและได้เดินทางมาหาที่สำหรับสร้างวัด ได้พบกับทางสามแพร่งแห่งหนึ่ง มองดูเหมาะสมจึงได้สร้างวัดขึ้น ณ ที่แห่งนี้โดยให้ชื่อว่า “วัดเจตภูต” ต่อมาคำกร่อนเป็น “วัดตะพูด” และ “วัดท่าพูด” ตามลำดับ แต่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับชื่อวัดท่าพูด คือ ในอดีตบริเวณวัดมี “ต้นมะพูด” ขึ้นอยู่มากมาย ซึ่งผลของต้นมะพูดนั้นสามารถนำไปทำยาสมุนไพรได้ด้วย นอกจากนี้ ภายในวัดท่าพูดมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดท่าพูด ซึ่งเก็บโบราณวัตถุ รวมไปถึงเอกสารโบราณและจารึกด้วย
วัดบางกระ ตั้งอยู่ตำบลหนองกลางนา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ติดริมแม่น้ำแม่กลอง หันด้านหน้าวัดออกไปทางแม่น้ำ ตามขนบแบบวัดเก่าทั่วไปก่อนที่จะมีการตัดถนน พระครูวินัยธร สมพงศ์ เขมวํโส ท่านเจ้าอาวาสวัดบางกระแจ้งว่าทางวัดเองได้เก็บตำรับตำราหนังสือโบราณเอาไว้อยู่ ซึ่งเป็นของดั้งเดิมอยู่กับวัดมานานตั้งแต่เจ้าอาวาสรุ่นก่อน ๆ เมื่อก่อนมีมากกว่านี้ แต่ก็ได้เสียหายไปบ้าง สูญหายไปบ้าง นอกจากนี้ท่านยังเล่าให้ฟังว่าเคยมีหน่วยงานหลายแห่งได้เข้ามาสำรวจเอกสารโบราณภายในวัดบางกระนี้มาบ้างแล้ว แต่ก็จำไม่ได้ว่ามีหน่วยงานใดบ้าง