วัดท่าพูด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี เดิมชื่อว่า “วัดเจตภูต” โดยมีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมาว่า มีพี่น้องสองคนนั่งอยู่ใกล้จอมปลวกใหญ่พอพี่ชายนอนหลับไป น้องชายมองเห็นตัวแมงดาวเรืองคลานออกมาจากจมูกของพี่ชายและมันก็คลานหายเข้าไปในจอมปลวก ต่อมาตัวเองก็นอนหลับไปเช่นกันและฝันไปว่ามีภูติมาบอกว่ามีทรัพย์สมบัติกองอยู่มากมายในภูเขา ขอให้ขุดเอามาขายเพื่อเอาเงินสร้างวัด พอสะดุ้งตื่นขึ้นมาจึงเล่าเรื่องให้พี่ชายฟัง จากนั้นจึงได้ช่วยกันขุดดินหาสมบัติแต่ไม่พบ จึงได้หวนนึกถึงเรื่องที่ภูติมาบอกและตัวแมงดาวเรืองเดินเข้าไปในจอมปลวก จึงขุดค้นดูในจอมปลวกและได้ทรัพย์สมบัติมามากมายจึงเอามาขายเพื่อนำเงินมาสร้างวัดตามความฝันและได้เดินทางมาหาที่สำหรับสร้างวัด ได้พบกับทางสามแพร่งแห่งหนึ่ง มองดูเหมาะสมจึงได้สร้างวัดขึ้น ณ ที่แห่งนี้โดยให้ชื่อว่า “วัดเจตภูต” ต่อมาคำกร่อนเป็น “วัดตะพูด” และ “วัดท่าพูด” ตามลำดับ
แต่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับชื่อวัดท่าพูด คือ ในอดีตบริเวณวัดมี “ต้นมะพูด” ขึ้นอยู่มากมาย ซึ่งผลของต้นมะพูดนั้นสามารถนำไปทำยาสมุนไพรได้ด้วย นอกจากนี้ ภายในวัดท่าพูดมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดท่าพูด ซึ่งเก็บโบราณวัตถุ รวมไปถึงเอกสารโบราณและจารึกด้วย
ตำรายาเกี่ยวกับโรคลม ในคัมภีร์ชวดาร เกี่ยวกับลมต่างในร่างกายที่ไหลหมุนเวียนอยู่ หากเกิดความผิดปกติกับลมดังกล่าวก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ซึ่งมีสูตรยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคต่างๆ เหล่านั้นด้วย ท้ายเรื่องเป็นภาพยันต์ชนิดต่างๆ
ตำรายันต์ต่างๆ เช่น ยันต์จักพรรดิตราธิราช ยันต์ตะกรุดโทน ยันต์ลงผ้าประเจียด ยันต์ลงผ้าเช็ดหน้า เขียนด้วยอักษรไทย และอักษรขอมไทย ด้านท้ายเขียนกลับด้าน บางแห่งเขียนด้วยอักษรธรรมอีสาน
ณรงคจิตรชาดก เป็นกลอนสวดที่ไม่พบที่มาของเรื่อง เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่แต่งเลียนแบบชาดก โดยผู้แต่งเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องชาดก คือใช้ชื่อเรื่องเป็นชาดกและเนื้อเรื่องก็กล่าวถึงผลของบุรพกรรมซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ในชาติปัจจุบัน ตัวละครเอกจะใช้คำว่า “หน่อศาสนา” และ “โพธิสัตว์” และตอนท้ายมีประชุมชาดก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผู้แต่งต้องการให้เห็นว่าเรื่องที่ตัวเองแต่งมีความสำคัญ น่าเชื่อถือ และได้อานิสงส์อีกด้วย ณรงคจิตรชาดกในต้นฉบับเอกสารสมุดไทยดำฉบับวัดท่าพูดนี้ มีเนื้อเรื่องบางตอนสลับที่กัน โดยเปรียบเทียบกับเนื้อเรื่องในภาคผนวกของณรงคจิตรชาดกฉบับที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์แล้ว และสันนิษฐานว่าเกิดจากการคัดลอกที่คลาดเคลื่อนไป เพื่อความสะดวกในการอ่านและความสมบูรณ์ของเนื้อหา ผู้เรียบเรียงจึงขอสลับเนื้อเรื่องบางตอนให้ตรงกับฉบับที่นำมาสอบทาน และขอแก้ไข เพิ่มเติมคำหรือความที่คาดว่าน่าจะเขียนตกหล่นไปโดยจะใส่คำหรือความเหล่านั้นไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ