พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นชาวอินเดีย เกิดในตระกูลพราหมณ์ และได้ร่ำเรียนจนจบไตรเพทตามธรรมเนียมพราหมณ์ก่อนที่จะมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาโดยการชักจูงของพระเรวัตตะเถระ จากนั้นก็พากเพียรเรียนพระไตรปิฎกจนมีความรู้แตกฉาน ก็มีความคิดที่จะแต่งอรรถกถา แต่ในตอนนั้นที่อินเดียมีแต่บาลีพระไตรปิฎกเท่านั้น ดังนั้นท่านจึงได้เดินทางไปที่เกาะลังกาเพื่อแปลอรรถกาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี และได้รจนาพระคัมภีร์วิสุทธิ-มรรคในขณะที่อยู่ลังกา
สมุดไทยขาวเขียนด้วยอักษรไทย ภาษาไทย เนื้อหากล่าวถึงโรคและตำรับยารักษาโรคในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น คัมภีร์มหาโชติรัตน คัมภีร์ปถมจินดา คัมภีร์กุมารรักษา คัมภีร์อภัยสันตา คัมภีร์อติสาร เป็นต้น
ตำรายาเกี่ยวกับโรคลม ในคัมภีร์ชวดาร เกี่ยวกับลมต่างในร่างกายที่ไหลหมุนเวียนอยู่ หากเกิดความผิดปกติกับลมดังกล่าวก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ซึ่งมีสูตรยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคต่างๆ เหล่านั้นด้วย ท้ายเรื่องเป็นภาพยันต์ชนิดต่างๆ
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะทาส ๗ ประการ ได้แก่ ทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย ทาสได้มาข้างบิดามารดา ทาสมีผู้ให้ ทาสที่ได้ช่วยเมื่อต้องโทษทัณฑ์ ทาสที่เลี้ยงดูมาในยามข้าวยากหมากแพง ทาสเชลย และทาสสินไถ่ การตกเป็นทาสประเภทต่างๆ การตั้งค่าตัว การไถ่ถอน การปฏิบัติตน สิทธิหน้าที่ของทาสประเภทต่างๆ ระหว่างทาสกับนายเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆ รวมทั้งกำหนดว่า ทาสคือ คนของพระมหากษัตริย์ ที่นายเงินจะลงโทษถึงตายไม่ได้
พระตำรับเลขเจ็ดตัว เป็นตำราโหราศาสตร์อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก ได้แก่ วันจม วันฟู วันลอย, การดูสมพงษ์, ฉัตรสามชั้น, ตำรับชั้น, เทพจร และตำรายาแก้โรคกระษัยต่างๆ ซึ่งอยู่ในช่วงท้ายของหน้าต้นต่อไปจนถึงหน้าปลายและเขียนด้วยดินสอ จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ในส่วนที่เป็นเรื่องของตำรายาสมุนไพรนั้นเขียนขึ้นคนละคราวกับพระตำรับเลขเจ็ดตัว และโหราศาสตร์เรื่องอื่นๆ
พระมหาเวสสันดรฉบับนี้ ผู้เขียนได้บอกในตอนท้ายว่าได้เขียนตั้งแต่ต้นคือ กัณฑ์ทศพร จนถึงกัณฑ์นครกัณฑ์ ทั้งหมดสิบสามกัณฑ์ แต่ที่พบมีเพียงกัณฑ์วนปเวสน์จนถึงกัณฑ์นครกัณฑ์เท่านั้นรวมสิบกัณฑ์ เนื่องจากเอกสารไม่สมบูรณ์ เขียนด้วยฉันท์และกาพย์ ตอนสุดท้ายมีประชุมชาดก นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นแทรกเข้ามาด้วย ได้แก่ เรื่องการคบมิตรที่ยกเอานิทานธรรมเรื่องนกแขกเต้ามาเป็นตัวอย่าง เรื่องมงคลทีปนี เกี่ยวกับการไม่คบคนพาล โดยยกนิทานธรรมเรื่องพระเทวทัตกับเจ้าชายอชาตศัตรู
ว่าด้วยเรื่องของบทลงโทษ ข้อตกลง การปรับสินไหม ในคดีต่างๆ เป็นกรณีไป ตามแต่ละมาตรา เช่น การทะเลาะวิวาท การบุกรุกพื้นที่ การลักทรัพย์ การด่าทอด้วยคำหยาบคาย การกู้หนี้ยืมสิน การข่มขู่ การซื้อที่ดินไร่นา เป็นต้น ส่วนหลังของหน้าปลายเขียนด้วยดินสอ มีลักษณะเหมือนสมุดบันทึกเรื่องสัพเพเหระ เช่น บทกวี ตำรายาสมุนไพร บทสวดมนต์ คาถาอาคม ยันต์ เป็นต้น ในส่วนของภาพที่ 54 และ 55 นั้น ให้อ่านภาพที่ 55 ก่อน แล้วจึงเป็นภาพที่ 54
สมุดไทยฉบับนี้ กล่าวถึงตำราโหราศาสตร์ 3 ฉบับด้วยกัน คือ ตำราห่วง ตำราเทวดาให้ฤกษ์ และตำรายามอัฐกาล โดยจะกล่าวถึงวันและฤกษ์ยามในการทำการมงคล ทั้งการปลูกเรือน การสู่ขอภรรยา การเจรจาคดีความต่างๆ การไปหาสู่ผู้ใหญ่ เป็นต้น
ณรงคจิตรชาดก เป็นกลอนสวดที่ไม่พบที่มาของเรื่อง เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่แต่งเลียนแบบชาดก โดยผู้แต่งเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องชาดก คือใช้ชื่อเรื่องเป็นชาดกและเนื้อเรื่องก็กล่าวถึงผลของบุรพกรรมซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ในชาติปัจจุบัน ตัวละครเอกจะใช้คำว่า “หน่อศาสนา” และ “โพธิสัตว์” และตอนท้ายมีประชุมชาดก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผู้แต่งต้องการให้เห็นว่าเรื่องที่ตัวเองแต่งมีความสำคัญ น่าเชื่อถือ และได้อานิสงส์อีกด้วย ณรงคจิตรชาดกในต้นฉบับเอกสารสมุดไทยดำฉบับวัดท่าพูดนี้ มีเนื้อเรื่องบางตอนสลับที่กัน โดยเปรียบเทียบกับเนื้อเรื่องในภาคผนวกของณรงคจิตรชาดกฉบับที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์แล้ว และสันนิษฐานว่าเกิดจากการคัดลอกที่คลาดเคลื่อนไป เพื่อความสะดวกในการอ่านและความสมบูรณ์ของเนื้อหา ผู้เรียบเรียงจึงขอสลับเนื้อเรื่องบางตอนให้ตรงกับฉบับที่นำมาสอบทาน และขอแก้ไข เพิ่มเติมคำหรือความที่คาดว่าน่าจะเขียนตกหล่นไปโดยจะใส่คำหรือความเหล่านั้นไว้ในเครื่องหมายวงเล็บ