เอกสารโบราณ

NPT008-003 ตำราพระอาทิตย์

ตำราดาราศาสตร์ , ตำนาน
วัดเทียนดัด , นครปฐม , สมุดไทย , ตำรา , ราศี , พระอาทิตย์

หน้าสุดท้าย เขียนด้วยลายมือปัจจุบัน ความว่า “ตำรานี้เป็นตำราเก่าของปู่ย่าตายายของตระกูล...(ตัวอักษรถูกขีดทับ) เท่า ซึ่งประจำอยู่วัดเทียนดัด อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งทางวัดได้รวบรวมไว้จากกุฏิเก่าแก่ในวัดเทียนดัด 18 กรกฎาคม 2511”

NPT010-016 ตำราคาถา และตำรายา

ตำราไสยศาสตร์ , ตำราเวชศาสตร์
ยันต์ , คาถา , ยา , ไสยศาสตร์ , เวชศาสตร์ , สมุนไพร

สมุดไทยเรื่อง NPT010-016 ตำราคาถาและตำรายา ฉบับวัดสำโรง จ.นครปฐม เป็นสมุดไทยขาวตัวอักษรขอมไทย, ไทย ภาษาบาลีและภาษาไทย เขียนด้วยเส้นหมึกสีดำ ลายมือที่ปรากฏในสมุดไทยมี ๒ ลายมือแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ลายมือแรกเขียนตัวอักษรขอมไทยได้บรรจง สวยงาม ส่วนลายมือที่สองค่อนข้างหวัด สันนิษฐานว่าในหน้าต้นที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องตำราคาถานั้นถูกเขียนขึ้นมาก่อนซึ่งไม่ได้เขียนจนหมดฉบับ จากนั้นถูกนำไปเขียนเรื่องตำรายาภายหลัง สมุดไทยขาวฉบับนี้ไม่ครบฉบับ หน้าต้นและหน้าปลายขาดหายไปเป็นที่น่าเสียดายมาก บางตำแหน่งมีรอยน้ำซึมทำให้ตัวอักษรลบเลือนไปเล็กน้อย หน้าต้นกล่าวถึง คาถาปถมํ คือ การอุบัติของพระเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ การบำเพ็ญบารมีจนถึงสูญนิพพาน คาถาต่างๆ ทั้งคาถาเมตตามหายนิยม คาถาอยู่ยงคงกระพัน คาถาต่อกระดูก เป็นต้น หน้าปลายเป็นตำรายา กล่าวถึง คัมภีร์โรคนิทาน เป็นชื่อของคัมภีร์ที่ว่าด้วยเหตุและสมุฏฐานของโรค โรคที่เกิดจากธาตุทั้งสี่พิการ (ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ อาโปธาตุ) และสูตรยารักษาโรคนั้นๆ เช่น อาโปพิการ ร่างกายขาวซีด ง่วงซึม รักษาด้วย เจตมูลเพลิงแดง ๑ ลูกผักชี ๑ เปลือกมูกมัน ๑ ก็ทำเป็นผงละเอียดละลายน้ำร้อนกินแก้โรค เป็นต้น

NPT004-054 คาถาหัวใจต่างๆ

ตำราไสยศาสตร์
คาถา , ไสยศาสตร์ , ธาตุ , หัวใจ , โองการมหาเถรตำแย , คุณไสย , พิธีตีแถลง , วัดลำพญา , นครปฐม

คาถาหัวใจ หรือ หัวใจพระคาถา เป็นบทย่อของพระคาถาซึ่งถอดออกมาเป็นคำสั้น ๆ เพื่อให้จดจำได้รวดเร็วแต่ยังคงความหมายและความศักดิ์สิทธิ์ไว้เช่นเดิม คาถาหัวใจที่ปรากฏในสมุดไทย อาทิ หัวใจพระมหาชนก หัวใจพระเพชร หัวใจพระสุวรรณสาม หัวใจตรีนิสิงเห หัวใจพระเตมีย์ หัวใจงู หัวใจคน เป็นต้น นอกจากคาถาที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ยังมีคาถาหัวใจที่กล่าวถึงนอกเหนือจากคาถาหัวใจ 108 อีกด้วย เช่น หัวใจนภา หัวใจมงคล เป็นต้น การตั้งพิธีตีแถลงหรือแสลงก็ได้ ผู้ปริวรรตเข้าใจว่าเป็นพิธีที่ตั้งขึ้นเพื่อปัดพิษร้าย คุณไสยต่างๆ ให้ออกจากจากร่างกายของคน และโองการมหาเถรตำแย

NPT004-024 สมุดภาพไตรภูมิโลกวินิจฉัย

ตำนาน
นครปฐม , ตลาดน้ำ , พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน , แม่น้ำนครชัยศรี , ตำนาน

วรรณคดีเรื่องนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น เตภูมิกถา ไตรภูมิกถา ไตรภูมิวินิจฉยกถา ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ไตรโลกวินิจฉยกถา และไตรภูมิฉบับหลวง เป็นต้น ปัจจุบันในวงการวรรณคดีเรียกว่า ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา เพื่อให้ต่างจากไตรภูมิกถาฉบับพญาลิไท ช่วงเวลาที่มีการแต่งไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาขึ้นนั้นยังไม่พบไตรภูมิกถาฉบับพญาลิไท ทั้งสองฉบับมีเนื้อความคล้ายกัน แต่ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถามีความละเอียดมากกว่า ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถามุ่งจะอธิบายพระพุทธคุณในส่วนที่ได้ชื่อว่า “โลกวิทู” ซึ่งหมายถึงการรู้โลกของพระพุทธองค์ ได้แก่ สังขารโลก สัตตโลก และโอกาสโลก โดยแสดงละเอียดเฉพาะส่วนที่เรียกว่า โอกาสโลก ซึ่งได้แก่แผ่นดิน จักรวาลเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์โลกทั้งปวง รวมถึงดวงอาทิตย์ดวงจันทร์เนื้อความของไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา แบ่งออกเป็น 8 ภาค คือ โอกาสวินาสโลกกถา โอกาสสัณฐาหนโลกกถา นิริยโลกกถา เปตโลกกถา ติรัจฉานโลกกถา มนุสสโลกกถา เทวโลกกถา พรหมโลกกถา สภาพเอกสารชำรุดมากเหลือเพียงเล็กน้อยในส่วนที่เป็นภาพวาดเท่านั้น

แหล่งข้อมูล

  • พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร

    วัด

    “วัดหนัง” หรือ “วัดหนังราชวรวิหาร” ตามประวัติวัดนั้นสร้างเมื่อ พ.ศ.2260 หรือช่วงรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ สมัยก่อนแถววัดหนังอยู่เขตอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เมื่อรวมธนบุรีเข้ามาเป็นกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก วัดหนังก็ย้ายเข้ามาอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ยังปรากฏป้ายเก่าของวัดขณะที่ยังสังกัดจังหวัดธนบุรีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด วัดหนังเป็นวัดเก่าแก่ในย่านนี้ และมีวัดในแถบใกล้ๆ กันอีกหลายวัดจนมีเรื่องเล่าว่า วัดในแถบนี้มีวัดสามพี่น้องคือ วัดหนัง วัดนางนอน และวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร และที่ใกล้กันนั้นก็มีวัดศาลาครึนด้วย วัดนางนองราชวรวิหารและวัดราชโอรสารามราชวรวิหารนั้นบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งศิลปะที่ปรากฏอยู่ที่วัดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะแบบจีน ส่วนวัดหนังนี้พระราชมารดาของรัชกาลที่ 3 ทรงให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหนังขึ้นใหม่ แต่ให้มีความเป็นไทยผสมอยู่มากกว่าวัดนางนองและวัดราชโอรสารามฯ แต่ก็ยังมีศิลปะแบบจีนปนอยู่บ้าง พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิต และประวัติความเป็นมาของพื้นที่ย่านเขตจอมทอง คิดริเริ่มและลงมือจัดทำช่วง พ.ศ.2545 สมัยพระธรรมศีลาจารย์เป็นเจ้าอาวาส โดยมีพระครูสมุห์ไพฑูรย์ สุภาฑโร (ปัจจุบันลาสิกขาบทแล้ว) และบรรดาลูกศิษย์ในย่านวัดหนังช่วยกันก่อตั้งและจัดหาวัตถุจัดแสดง

  • พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม

    วัด

    วัดคงคารามสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกรุงธนบุรี ตามประวัติกล่าวว่า เจ้าเมืองรามัญ 7 เมือง ได้แก่ พระสมิงสิงหบุรินทร์ เมืองสิงห์ พระนินนะภูมินบดี เมืองลุ่มสุ่ม พระชินติฐบดี เมืองท่าตะกั่ว พระนิโครธาภิโยค เมืองไทรโยค พระปนัสติฐบดี เมืองท่าขนุน พระเสลภูมิบดี เมืองทองผาภูมิ และพระผลกติฐบดี เมืองท่ากระดาน รวมถึงครอบครัวชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดคงคารามขึ้นเป็นวัดกลาง เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมในการร่วมทำสังฆกรรมของสงฆ์แบบรามัญนิกายในวันเข้าและออกพรรษาของทุกปี อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของชาวมอญในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญว่า “เภี้ยโต้” แปลว่าวัดกลาง และเป็นชื่อวัดหนึ่งในเมืองมอญ ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 พระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ขุนนางไทยเชื้อสายมอญได้นิมนต์พระราชาคณะฝ่ายรามัญนิกายมาเป็นเจ้าอาวาส วัดคงคารามเจริญรุ่งเรืองถึงขั้นสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 4 พระครูรามัญญาธิบดี เจ้าอาวาสเป็นที่เคารพนับถือมาก กิจกรรมต่างๆ ของวัดได้รับการอุปถัมภ์โดยเจ้าจอมมารดากลิ่นในรัชกาลที่ 4 และทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นพระอารามหลวง ซึ่งได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดคงคาราม” สำหรับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามนั้น ก่อตั้งในปี 2542 โดยใช้กุฏิ 9 ห้อง ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงไทยที่ใหญ่และงามที่สุดแห่งหนึ่ง จัดเป็นที่แสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่ล้ำค่าอันเป็นสมบัติของวัดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น โลงมอญอายุกว่า 200 ปี แกะสลักลายดอกพุดตานลงรักปิดทองประณีตงดงาม คัมภีร์ใบลานและสมุดไทยที่จารเป็นภาษามอญจำนวนมาก หีบและตู้พระธรรม เครื่องปั้นดินเผาศิลปะมอญแกะสลักลวดลายวิจิตรหาชมได้ยากในปัจจุบัน เครื่องมือช่างสมัยโบราณ หนังช้างอานม้าลงรักปิดทอง ตาลปัตรพัดยศรูปทรงงดงาม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชาวมอญ เครื่องถ้วยลายคราม เครื่องทองเหลือง เป็นต้น ปี 2553 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ร่วมงานกับวัดคงคารามเมื่อครั้งจัดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “สยามใหม่จากมุมมองท้องถิ่น” ต่อมาปี 2554 ศูนย์ฯ ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ เพื่อยืดอายุของผ้าในฐานะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางด้านศิลปะและพลังศรัทธาของชุมชน โดยมีผู้ทรงความรู้เรื่องผ้ามาให้ความรู้และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ผ้าอย่างง่ายให้กับชาวบ้าน ทั้งการเก็บรักษาผ้าให้คงสภาพดีด้วยวิธีการม้วนผ้ากับแกนเพื่อไม่ให้เส้นใยผ้าหักงอ การจัดแสดงผ้าด้วยการตรึงผ้ากับกรอบไม้ และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผืนผ้าด้วยการทำผ้าดามหลัง รวมทั้งการซ่อมแซมผ้าซึ่งมีทั้งวิธีการตามหลักการอนุรักษ์ และวิธีแบบพื้นบ้านผสมผสานกัน ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากลุงป้าน้าอาชาวคงคารามเป็นอย่างดี และการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์นี่เอง ทำให้ ดอกรัก พยัคศรี นักวิชาการฐานข้อมูลเอกสารโบราณฯ (ในขณะนั้น) ที่มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย พบว่านอกจากผ้าห่อคัมภีร์ที่น่าสนใจแล้ว ตัวเอกสารโบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้ก็มีความน่าสนใจ น่าศึกษา สมควรที่จะอนุรักษ์เอกสารโบราณในรูปแบบของสำเนาดิจิทัล และเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่เอกสารโบราณเหล่านี้ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเอกสารโบราณได้ง่ายขึ้น ปี 2559 ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ จึงทำหนังสือขออนุญาตเพื่อทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ ทีมงานได้พบพระอนุวัฒน์ สุจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระเจี๊ยบ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พระเจี๊ยบให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้มีหน่วยงานของรัฐ คือ กลุ่มงานหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เข้ามาสำรวจ ชำระ แยกประเภทและจัดหมวดหมู่เอกสารโบราณของวัดคงคารามไว้อย่างดีมาก และจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ และได้อาจารย์พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญอักษรและภาษาโบราณมาช่วยอ่านแปลชื่อเรื่องให้ ซึ่งเป็นคุณูปการแก่วงวิชาการอย่างสูง อ้างอิงข้อมูลจาก 1) ประวัติความเป็นมาและสภาพทั่วไปของเทศบาลตำบลคลองตาคต, สืบค้นจาก http://www.klongtakot.go.th/general1.php 2) แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม 3) รีวิวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม, ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศมส. https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/435

  • วัดใหม่นครบาล

    วัด

    วัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ตั้งขึ้นจากการขยายตัวของชุมชน 2 หมู่บ้านได้แก่ ชุมชนบ้านนครบาลและชุมชนบ้านใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยยวนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยแต่เดิมเป็นชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อชุมชนบริเวณดังกล่าวหนาแน่นมากขึ้น จึงได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนตั้งรกรากที่บริเวณเมืองราชบุรี อยู่รวมกันเป็นชุมชนชาวไทยยวนขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่เมืองโบราณคูบัว เอกสารโบราณของวัดถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีภายในตู้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ของวัด เอกสารโบราณดังกล่าวท่านพระครูพัฒนกิจสุนทรได้รวบรวมมาจากวัดในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่ไม่สามารถดูแลรักษาไว้ได้หรือไม่ให้ความสำคัญต่อเอกสารโบราณ รวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ ด้วย จากการสำรวจพบว่า เอกสารโบราณประเภทใบลานบางส่วนได้รับการจัดทำทะเบียนโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติไว้แล้ว ท่านพระครูพัฒนกิจสุนทร (สังข์ ชิตมาโร) อดีตเจ้าวัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ท่านมีเชื้อสายชาวไทยยวน เป็นพระสงฆ์ 1 ในจำนวน 2 รูป ของชุมชนชาวไทยยวนคูบัว ที่ยังคงสวดมนต์และประกอบพิธีแบบไทยวนอยู่ อีกท่านหนึ่งคือท่านพระครูวินัยธร โชติโย เจ้าอาวาสวัดทุ่งหญ้าคมบาง พระครูพัฒนกิจสุนทร หรือหลวงพ่อสังข์ ท่านได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุรวมถึงเอกสารโบราณมาจากวัดต่างๆ ภายในเขตชุมชนไทยยวน โดยมีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาทางด้านอักษรและภาษาไทยวน ให้อยู่คู่ชุมชน เพื่อที่จะรักษาไว้ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดินสืบไป แต่ขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์และงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าแก่ผู้ที่สนใจ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นสืบไป เอกสารโบราณที่รวบรวมไว้มีทั้งที่เป็นอักษรไทย อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนา เป็นที่น่าสนใจที่ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบอักษรและอักขรวิธีของอักษรธรรมล้านนา รวมถึงการศึกษาทางด้านคติชนวิทยา มานุษยวิทยา สังคมวิทยา และพุทธศาสนา กับเอกสารโบราณของพื้นที่เขตวัฒนธรรมล้านนา อันจะช่วยให้เห็นความแตกต่างหลากหลายกลุ่มชนที่อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมต่างกันได้เป็นอย่างดี

  • วัดบางกระ

    วัด

    วัดบางกระ ตั้งอยู่ตำบลหนองกลางนา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ติดริมแม่น้ำแม่กลอง หันด้านหน้าวัดออกไปทางแม่น้ำ ตามขนบแบบวัดเก่าทั่วไปก่อนที่จะมีการตัดถนน พระครูวินัยธร สมพงศ์ เขมวํโส ท่านเจ้าอาวาสวัดบางกระแจ้งว่าทางวัดเองได้เก็บตำรับตำราหนังสือโบราณเอาไว้อยู่ ซึ่งเป็นของดั้งเดิมอยู่กับวัดมานานตั้งแต่เจ้าอาวาสรุ่นก่อน ๆ เมื่อก่อนมีมากกว่านี้ แต่ก็ได้เสียหายไปบ้าง สูญหายไปบ้าง นอกจากนี้ท่านยังเล่าให้ฟังว่าเคยมีหน่วยงานหลายแห่งได้เข้ามาสำรวจเอกสารโบราณภายในวัดบางกระนี้มาบ้างแล้ว แต่ก็จำไม่ได้ว่ามีหน่วยงานใดบ้าง

บทความ/กิจกรรม

ตำรายา พยากรณ์

ตำรายา พยากรณ์

RBR003-054 ตำรายา พยากรณ์ ฉบับวัดใหม่นครบาล จังหวัดราชบุรี เป็นสมุดไทย เขียนด้วยเส้นหมึกดำและดินสอ อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยถิ่นเหนือ เอกสารสภาพไม่สมบูรณ์ ขอบสมุดไทยเปื่อยยุุ่ยเล็กน้อย หน้าสมุดไทยบางหน้าตัวหนังสือจางหายทำให้อ่านไม่ได้ และชำรุดขาดหายไปบางส่วน เหลือจำนวน 32 หน้า ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง มีภาพประกอบเป็นภาพลายเส้น เช่น นาคสมพงศ์ เป็นต้น<br />
หน้าต้นเป็นตำรายา กล่าวถึงยา เช่น ยาซาง อาการของโรค และยาสำหรับรักษาโรค ส่วนหน้าปลายนั้น กล่าวถึง ตำราดูธาตุชายหญิง ตำราสู่ขวัญ นาคสมพงศ์ เป็นต้น

รายงานการสำรวจ ทำทะเบียน และจัดทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณมุสลิม ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชชุมชนมุสลิมมลายูบ้านปากลัด สมุทรปราการ  19 ธันวาคม 2567

รายงานการสำรวจ ทำทะเบียน และจัดทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณมุสลิม ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชชุมชนมุสลิมมลายูบ้านปากลัด สมุทรปราการ 19 ธันวาคม 2567

เอกสารโบราณที่เก็บรักษาไว้ เป็นบันทึกสายตระกูลและผังเครือญาติของบรรพชนชาวมุสลิมมลายูปัตตานี ณ บ้านปากลัด ซึ่งได้รับการบันทึกโดย ฮัจญี อับบาส บิน อับดุรเราะห์มาน อัลปากลาตีย์ หรือ แชบะฮ์ แสงวิมาน นักวิชาการด้านศาสนาอิสลามคนสำคัญของชุมชน เมื่อกว่าร้อยปีก่อน นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมโยงด้านสายตระกูลของชาวมุสลิมในชุมชนต่าง ๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

พระสุนันทราช

พระสุนันทราช

NPT009-002 พระสุนันทราช ฉบับวัดท่าข้าม นครปฐม
ต้นฉบับกล่าวถึง พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงพระสุนันทราช ทรงเล่าถึงความสงสัยในพระทัยพระองค์ พระสุนันทราชเสด็จมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อถามปัญหา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาแก่พระสุนันทราช ทรงบอกกุศลแห่งการสร้างหนังสือพระสุนันทราชเอาไว้ในพระพุทธศาสนา และพระสุนันทราชทรงบรรลุพระอรหันตผล

ตำราคณิตศาสตร์ ฉบับวัดบางช้างเหนือ

ตำราคณิตศาสตร์ ฉบับวัดบางช้างเหนือ

หน้าต้นกล่าวถึง แบบคิดหน้าไม้ วิธีคิดหน้าไม้ มาตราเงินไทยโบราณ การบวกลบคูณหารทั่วไป บวกลบคูณหารของเงินไทยโบราณ การซื้อของแลกเปลี่ยนด้วยเงินไทยโบราณ
หน้าปลายกล่าวถึง ยาแก้อาการเจ็บป่วย และสูตรยาสำหรับรักษาโรคนั้นๆ อาทิ ยาแก้ไข้บำบัดไข้กำเดา ยาต้มแก้ไข้สันนิบาต ยาแก้กษัย ยาแก้กษัย กษัยเส้น กษัยกล่อน กษัยเลือดลม แก้ริดสีดวง ฯลฯ

ศมส. ต้อนรับนักศึกษาสาขาการจัดการจดหมายเหตุฯ เข้าดูงานฐานข้อมูลเอกสารโบราณฯ

ศมส. ต้อนรับนักศึกษาสาขาการจัดการจดหมายเหตุฯ เข้าดูงานฐานข้อมูลเอกสารโบราณฯ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ให้การต้อนรับนักศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อศึกษาดูงานเรื่องการแปลงทรัพยากรสารสนเทศให้เป็นดิจิทัลของฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย