วัดโคก จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี มีที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 14 ไร่ 80 ตารางวา มีทีธรณีสงฆ์ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ส่วนที่มาของชื่อวัดสันนิษฐานว่ามาจากลักษณะภูมิศาสตร์ที่ตั้งของวัด ด้วยทางด้านทิศตะวันออกของวัดมีแม่น้ำคลองกระแชงไหลผ่าน เมื่อเข้าหน้าน้ำ น้ำจะท่วมวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ แต่น้ำไม่ท่วมวัดนี้ เพราะเป็นที่สูง จึงให้ชื่อว่า "วัดโคก"
วัดโคก ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2170 อุโบสถหลังเก่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา อุโบสถหลังนี้ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งในสมัยพระอธิการลำไย ปทีโป เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าและได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2518 โดยได้รับความอุปถัมภ์จากหลวงจบกระบวนยุทธ และคุณหญิงจงกล กิตติขจร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัด
เอกสารโบราณของวัดโคก จ.เพชรบุรี พบว่าเอกสารโบราณประเภทใบลาน จะเป็นใบลานก้อม (ใบลานขนาดเล็กว่าใบลานปกติ) จารด้วยอักษรไทย อยู่ในหมวดเวชศาสตร์ และหมวดธรรมคดี ประมาณ 20 ผูก ส่วนเอกสารโบราณประเภทสมุดไทย จะเป็นสมุดไทยดำ สมุดไทยขาว เขียนด้วยอักษรขอมไทย และอักษรไทย อยู่ในหลายหมวดทั้งโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ กฎหมาย และวรรณกรรม แต่น่าเสียดายที่สมุดไทยส่วนใหญ่ไม่ครบฉบับ เนื้อหาบางส่วนขาดหายไปบ้าง โดยคณะทำงานได้จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณลงในแบบบันทึกข้อมูล ทำความสะอาดเอกสารโบราณตามกรรมวิธีที่เหมาะสม ถ่ายภาพทำสำเนาดิจิทัล ทำป้ายชื่อกำกับเอกสารโบราณ และห่อคัมภีร์เพื่อจัดเก็บคืนให้แก่วัด พร้อมทั้งแนะนำการเก็บรักษาเอกสารโบราณให้แก่ทางวัด
อ้างอิงจาก
https://th.wikipedia.org/wiki/วัดโคก_(จังหวัดเพชรบุรี)
https://communityarchive.sac.or.th/community/WatKhok
http://m-culture.in.th/album/16219
สมุดไทยขาวฉบับนี้เขียนด้วยอักษรขอมไทย ภาษาบาลี และภาษาไทย อักษรไทย ภาษาไทย เนื้อหาเกี่ยวกับไสยศาสตร์ การตั้งตรีนิสิงเห การเขียนยันต์ การกำกับคาถา เป็นต้น
คัมภีร์ใบลานขนาดสั้น จารด้วยอักษรขอมไทย ภาษาบาลี และอักษรไทย ภาษาไทย ในส่วนของอักษรขอมไทย สลับกับอักษรไทย เป็นการเขียนบาลีร้อยพบเพียงเล็กน้อย จากนั้นจารด้วยอักษรไทย ภาษาไทย
เนื้อหาของคัมภีร์ใบลานฉบับนี้อยู่ในหมวดเวชศาสตร์ กล่าวถึงคัมภีร์ปรีญาณสูตร แก้ธาตุพิการ แก้ปวดศีรษะ แก้กระหายน้ำแก้ร้อนใน แก้ปวดเมื่อยร่างกาย แก้ดีแตก แก้ลงแก้ราก เป็นต้น
เอกสารโบราณเป็นคัมภีร์ใบลานขนาดสั้น ชื่อเรื่อง ตำราสัพะคูน กล่าวถึง ตำรับยาและการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น “วัน ๑ บดขิง วัน ๒ บดแห้วหมู วัน ๓ บดพิลังกาสา ถ้ามิได้เอาลูกตุมกาเครือ วัน ๔ บดขมิ้นอ้อย วัน ๕ บดพริก วัน ๖ บดดีปลี วัน ๗ บดใบสะเดา เมือ่จะประสมกันจึงเอามูตรวัวดำคุการด้วยกันบดจงละเอียด ปั้นเป็นแม่งตากในร่ม ถ้าแห้งแล้วจึงชูมด้วยพระคาถานี้เสกด้วย สักกัตวา ๔๕ คาบ เสกด้วย สัพพาสี ๔๕ คาบ แลพลีจงดีคำนับแล้วใช้เถิด ถ้าเจ็บตา ฝนด้วยน้ำแรมคืนใส่หายแล ฯ”
สมุดไทยขาวบันทึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย เนื้อหากล่าวถึงตำรับสมุนไพรในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับฝี เช่น “อันนี้ชื่อสังวาลย์พระอินทร์ ขึ้นแต่บ่าแลอกแล 11 วันตาย ฤาแปรหัวหัวฝีนั้นเอาอุลม 1 อังกาบดอกแดง 1 อังกาบดอกข้าว 1 บัวบก 1 ตำเอาน้ำเท่ากันชโลมหัวฝีนั้นแล ฯ”