สมุดไทยขาว เขียนด้วยอักษรไทย ภาษาไทย และอักษรขอมไทย ภาษาบาลีแทรกเล็กน้อย กล่าวถึงคัมภีร์รักษาโรคต่าง ๆ เช่น คัมภีร์อภัยสันตา คัมภีร์ปถมจินดา คัมภีร์อติสาร ซึ่งในหน้าต้นเขียนเป็นร้อยกรอง ตัวอย่างเช่น “อาทิดทรางไฟยสำคัน ทรางนำอรรยจรรณั ทรางแดงนันอังคาน อันพุดสกอเกอกาน ครุอนบนดานกำเนีดนัน ทรางฅาวี อันสุกทรางเสารี ทรางโจนนันนีมี กำเนีดประจำต่ามอรร” (อาทิตย์ซางไฟสำคัญ ซางน้ำอัศจรรย์ ซางแดงนั้นอังคาร อันพุธสกอเกอกาน ครุวันบนดานกำเนิดนั้น ซางคาวี อันศุกร์ซางเสาร์ ซางโจรนั้นนี้มี กำเนิดประจำตามวัน- ภาษาไทยปัจจุบัน) และ “จบคำพีนึง แต่เทานี จบเดือนสิบแรมสิบ 3 คำ วันอังคารตะวันบ่ายบ่อยนึง” (จบคัมภีร์นี้แต่เท่านี้ จบเดือนสิบ แรม 13 ค่ำ วันอังคารตะวันบ่ายบ่อยหนึ่ง-ภาษาไทยปัจจุบัน) จากนั้นเป็นข้อความร้อยแก้ว "๏ นาตำกำพีขาวดีงเกสาแล" (หน้าต้น คัมภีร์ขาวดึงเกสาแล-ภาษาไทยปัจจุบัน)
สมุดไทยขาวฉบับนี้เขียนด้วยอักษรขอมไทย ภาษาบาลี และภาษาไทย อักษรไทย ภาษาไทย เนื้อหาเกี่ยวกับไสยศาสตร์ การตั้งตรีนิสิงเห การเขียนยันต์ การกำกับคาถา เป็นต้น
คัมภีร์ใบลานขนาดสั้น จารด้วยอักษรขอมไทย ภาษาบาลี และอักษรไทย ภาษาไทย ในส่วนของอักษรขอมไทย สลับกับอักษรไทย เป็นการเขียนบาลีร้อยพบเพียงเล็กน้อย จากนั้นจารด้วยอักษรไทย ภาษาไทย
เนื้อหาของคัมภีร์ใบลานฉบับนี้อยู่ในหมวดเวชศาสตร์ กล่าวถึงคัมภีร์ปรีญาณสูตร แก้ธาตุพิการ แก้ปวดศีรษะ แก้กระหายน้ำแก้ร้อนใน แก้ปวดเมื่อยร่างกาย แก้ดีแตก แก้ลงแก้ราก เป็นต้น
เอกสารโบราณเป็นคัมภีร์ใบลานขนาดสั้น ชื่อเรื่อง ตำราสัพะคูน กล่าวถึง ตำรับยาและการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น “วัน ๑ บดขิง วัน ๒ บดแห้วหมู วัน ๓ บดพิลังกาสา ถ้ามิได้เอาลูกตุมกาเครือ วัน ๔ บดขมิ้นอ้อย วัน ๕ บดพริก วัน ๖ บดดีปลี วัน ๗ บดใบสะเดา เมือ่จะประสมกันจึงเอามูตรวัวดำคุการด้วยกันบดจงละเอียด ปั้นเป็นแม่งตากในร่ม ถ้าแห้งแล้วจึงชูมด้วยพระคาถานี้เสกด้วย สักกัตวา ๔๕ คาบ เสกด้วย สัพพาสี ๔๕ คาบ แลพลีจงดีคำนับแล้วใช้เถิด ถ้าเจ็บตา ฝนด้วยน้ำแรมคืนใส่หายแล ฯ”
RBR_003_195-201 รวมกันอยู่ใน “เลขที่ ๔๐ จันทคาต ผูก 1-4 อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยล้านนา ฉบับทองทึบ ไม่มีไม้ประกับ 7 ผูก” หน้าทับต้น ระบุ “๏ต้นจันทฆาต ผูก ๔ แลนายเอย”, เขียนอักษรไทยด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน “จันทคาต ผูก ๔” และเขียนอักษรไทยด้วยดินสอดำ “จันทคาด”
ลานแรก ด้านซ้ายมือ ระบุ “จันทฆาต ผูกปลาย ถ้วน ๔” ท้ายลาน ระบุ “จันทฆาตกํ นิฏฺฐิตํ กิริยาอัน[กล่าว/แก้ไข/เทศนา]ยังจันทฆาตชาดก ผูกถ้วน ๔ ก็บังคมสมเร็จเสด็จแล้ว บอระมวลควรกาลเท่านี้ก่อนแล /// เสด็จแล้ว จันทร์ แลนายเอย รัสสภิกขุเภด(เพชร) เขียนไว้ค้ำชูพระศาสนา เขียนแล้วยามเมื่อฉันจังหัน ข้าสร้างหนังสือกับ ข้าขอส่วนบุญไปรอดไปเถิงพ่อแม่พี่น้องเขาคุคนแด่เทอะ ข้าเกิดมาชาติหน้า ขอหื้อได้สุข ๓ ประการ นิพพานเป็นยอดแลนายเอย // ข้าเขียนบ่งามสักหน้อย ใจบ่ดีเพราะนางมัทรีอยานิผากข้างเพราะรักมันเต็มทีแลนาย // ใจบ่ดีเพราะได้หันตัวแม่เพราแพรมันใคร่สิกข์เต็มทีแลนายเหย เขียนบ่ดีสักหน้อย ลางตัวเท่าแมวลางตัวเท่าช้าง๛ ”
เอกสารโบราณเป็นใบลานขนาดสั้น เรียก ใบลานก้อม (ขนาดสั้นกว่าใบลานขนาดปกติ) จารด้วยอักษรขอมไทย ภาษาบาลีและภาษาไทย
หน้าสุดท้ายพบบันทึกท้ายคัมภีร์ใบลานความระบุถึงผู้สร้างคัมภีร์ถวายในพระพุทธศาสนาว่า “หมู่ชุ่มสร้างไว้ในพระศาสนา ขอให้สำเร็จพระนิพพาน ในอนาคตกาลโน้น”
“สัตต” บาลีเขียน “สตฺต” แปลว่า เจ็ด, “ปริตร” บาลีเขียน “ปริตฺต” แปลว่า การป้องกัน, การรักษาให้ปลอดภัย; ของขลังสำหรับป้องกันตัว, ของที่ช่วยบรรเทา, เครื่องราง
สัตตปริตร คือบทสวดมนต์เจ็ดบท หรือ “เจ็ดเรื่อง” คือ พระปริตรที่มีอำนาจคุ้มครองป้องกันตามเรื่องต้นเดิมที่เล่าไว้ว่าแต่ละบทมีต้นกำเนิดมาอย่างไรและมีอานุภาพเป็นเช่นไร ซึ่งได้จัดรวมเป็นชุด รวม 7 พระปริตร
นอกจากนี้ หน้าปกยังระบุข้อความที่กล่าวถึงผู้สร้างคัมภีร์ว่า “หมู(หมู่) ชุ่มทร่าง(สร้าง) ไว้ไนพระศาสนา ขอให้เป็นปัจจัยแก่พะนิพพานในอนาคตกาลโน้นเถิด”
อ้างอิงข้อมูล
ทองย้อย แสงสินชัย. (2557, 17 พฤศจิกายน). เจ็ดตำนาน. [Facebook]. สืบค้น 24 ตุลาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid0j4f1vmThf75SwKoyupdvhmHbhEDc9rENesnpWTtCjabWvytWLqFk7VQjZEtTzLEql?locale=th_TH