อานิสงส์สร้างดอกเผิ้งหรืออานิสงส์ดอกเทียน กล่าวถึงบุญกุศลที่ได้จากการสร้างปราสาทที่ทำจากเทียนแล้วปั้นแต่งเป็นรูปดอกไม้ตกแต่งปราสาทผึ้ง (ดอกไม้ที่ทำจากเทียน เรียก ดอกผึ้ง ดอกเผิ้ง หรือดอกเทียน) เพื่อความสวยงามปราณีต ซึ่งการสร้างปราสาทผึ้งนิยมกระทำในช่วงออกพรรษา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับ ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวอีสาน
เนื้อหาของเรื่องจินดามณีนั้นเป็นแบบการเรียนการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา และการประพันธ์บทร้อยกรองประเภทต่างๆ พื้นฐานด้านอักขรวิทยา เช่น อักษรศัพท์ ว่าด้วยคำศัพท์ที่มักเขียนผิด ความหมายของศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และเขมร ตัวอย่างคำที่ใช้ ส, ศ, ษ ตัวอย่างคำที่ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย เป็นต้น ด้านบทประพันธ์ร้อยกรอง ได้อธิบายโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนประเภทต่างๆ รวมทั้งยกตัวอย่างฉันทลักษณ์นั้นๆ ประกอบด้วย
ตำรายาเกล็ด หรือ ยาเกร็ด ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า ยาที่ไม่ใช่ยาตำราหลวง หรือเรียกอีกชื่อว่า ยากลางบ้าน เป็นยาที่ชาวบ้านเชื่อถือและใช้สืบทอดกันต่อๆ มา ในตำรายาเกล็ดฉบับนี้ กล่าวถึง อาการของโรคและตำรับยาในการรักษาโรคต่างๆ ดังนี้ ยาแก้แสียงแห้ง ยาแก้เลือดผอมท้องโต ยาปลุกเลือด ยารุเลือด ยาพรหมพิทักษ์ ยาถ่ายเลือดรุได้สารพัด ยามหาไว ยาถ่ายสารพัดคุณไสย ยาดองเลือดผอมแห้งท้องโต ยากวนกินแก้เลือดผอมท้องโต ยากินตัดราก ยาแก้อภินยา แก้ไข้จับใหญ่ ไข้เหนือ ยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ยามหาเมฆ ยามหานิล ยาต้มแก้ร้อนใน ยาสว่างอารมณ์ ยาแก้ไข้สำหรับไข้เชื่อมมัวจับหัวใจ ยาต้มแก้ไข้จับวันเว้นวัน ยาต้มครอบสารีบาททั้งปวง ยาแก้ลม ยาเหลืองบุพนิมิตร ยาแก้โรคทุลาวะสา ยาแก้โรคสำหรับบุรุษ ยาขาว ยาลมแก้จุกเสียด ยาดองแก้เลือดร้าง ยาดับลมร้าย ยาต้มถ่ายเสลด ยากัดเลือดกรัง ยาต้มแก้เลือดร้าง ยาเหลืองแก้ลมจุกเสียด ยาอายุวัฒนะ ยาเสียงแห้ง เป็นต้น และแทรกเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นคาถาสั้นๆ เช่น คาถาเสกน้ำมันดิบเหยียบเหล็ก คาถาสะเดาะลูกในท้อง คาถาตัดปาง เป็นต้น
สมุดไทยบันทึกตำราพยากรณ์ทำนายต่าง ๆ มีตำรายาแทรกด้วย ด้านในมีบันทึกว่า “สิทธิการิยะ ยังมีอาจารย์ผู้หนึ่งท่านไว้พระตำรานี้ได้มาแต่เมืองเชียงใหม่ เดิมนั้นท่านไว้เป็นกฤษณาว่าทองพันตำลึง ครั้นท่านผู้มีปัญญาคิดได้ พบแต่แต่โอ่งเปล่าใบหนึ่ง แต่ท่านใส่ตำรานี้ไว้ พระเจ้าเชียงใหม่ได้ตำรานี้ไว้ ตำราของพระสีเสาให้ไว้เป็นทาน ท่านแช่งชักสาบานไว้มากนัก ถ้าว่าตำ | รานี้มีเหมือนเรากล่าวไว้ ก็ให้เราไปสู่อบายทุกข์ ๑,๐๐๐ กัลป์ ๑,๐๐๐ ชาติเถิด พระเจ้าเชียงใหม่ทำเสวยเป็นนิจนิรันดร์ อายุท่านได้ ๑๐๗ ปี เกสาของท่านยังดำอยู่ พระทนต์ยังตึงอยู่ทุกสิ่ง ผิวเนื้อประดุจทองนพคุณ ครั้นอยู่มาสมภารพระอินทมุนีโคจรไปแต่กรุง จึงพระจ้าเชียงใหม่นิมนต์พระอินทร์ให้ท่านทำ พระ | อินทมุนีก็เทศนาไป แล้วก็หยุดอยู่ที่นั้นนาน พระเจ้าเชียงใหม่จึงยกตำรานี้ถวาย พระอินทมุนีจึงว่า บุคคลผู้ใดมีความศรัทธามิได้เป็นมิจฉาก็ดี ก็ขอยำตำรานี้ให้สืบๆ กันมา ผู้ใดๆ ทำยานี้กินไปจนถึงปีหนึ่ง แม้นผมขาวก็กลับดำ ฟันคลอนแล้วก็กลับแน่น โรคทั้งปวงหายสิ้นแล ถ้าได้กินจน[จบ]ครบถ้วน | กำหนดสามปี อาจสามารถจะเดินบนน้ำได้ มีอายุยินได้ ๑,๐๐๐ ปี พระอินทมุนีก็ได้ทำกิน อายุท่านได้ ๑๐๘ ปี แล้วดูท่านก็ยังกระชับกระชวยอยู่ผมท่านก็ยังดำอยู่ ฟันยังแน่นอยู่ ท่านได้ตำรานี้มาแต่ วันประหัส เดือนเจ็ด จุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมะเส็ง สัปตศกแล ...”
สมุดไทย หน้าต้นมีการกล่าวถึง การดูวันแรกนา ปลูกข้าวและพืชผักผลไม้ ส่วนหน้าปลาย
สมุดไทยบันทึกตำราเวชศาสตร์และยันต์ต่าง ๆ เช่น ตำราแผนปลิง, ตำราพระธรณีไหว,ตำราปันดินส่งเคราะห์ตามปีเกิด, ตำราหญิงตั้งครรภ์, ตำรายาลมชื่อนารายณ์ถอยกาย, ยาแก้ฝีในท้อง, ยาสว่างอารมณ์, ยาพอกกระหม่อม, ยาแก้พิษภายใน, ยากันอยู่ไฟ, ยาต้มกินเมื่อเลือดหยุด, ยาแก้เลือดตก, ยาคลอดลูกมิตก, ยาฝีหัวเดียว, ยามะเร็ง, ยากุฏฐัง, ยาทาปาก, ยาพยาธิใหญ่, ยาตรีผลา, ยาผายลม, ยาทราง, ยาตานขโมย, ยาโรยมะเร็ง, ยาทาปาเด็กแก้ทราง, น้ำมันกันฝี, น้ำมันกันมะเร็งทั้งปวง, น้ำมันอัศวราชน้อย, น้ำมันลม, น้ำมันแขนตายตีนตาย, คาถาปัดสารพัน, ยันต์ผูกมือเด็ก, ยันต์ใส่อ่างน้ำ, ยันต์ลงผ้าห่ม ฯลฯ
หน้าทับเค้า ระบุ “หน้าทับเค้ามัทรีเชียวหละ เป็นโยมฅำ นางหล้า เป็น[ผู้]สร้างไว้ในพระศาสนาห้าพันวัสสา” หน้าทับเค้า เขียนอักษรไทยด้วยปากกาลูกลื่นสีดำ “มัทรี ผูก ๙” และเขียนอักษรไทยด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน “มะทรีเจี่ยวหล่า” ท้ายลาน ระบุ “มทฺที ปพฺพํ นิฏฺฐิตํ กิริยาอันสังวรรณนาอันประดับประดาด้วยพระคาถาว่าได้ ๙๐ ทัส ก็แล้วเท่านี้๛” หน้าทับปลาย ระบุ “หน้าทับเค้ามัทรีเชียวราม่วนอาละปูดีฟังแลนาห๚ หนังสือทุอาวอั้น บ้านใหม่ไผ่ล้อมไม่ไผ่อ้อม ๒ แฟร(ควรเป็น ๒ แคว) ผู้สาวนอนแล แม่ร้างนอนผ่อ บ้านอยู่จ่อม่อริมทาง ปากบางคางสวย เพิ่นสร้างมหาชาติกับนี้ ขอหื้อได้กุศลจิ่มเทอะ” และเขียนอักษรไทยด้วยดินสอ “นะโม นะมัดสะกาน ผู้ข้าไว้(ไหว้)”
พระนางผุสดีเทพอัปสรสิ้นบุญ ท้าวสักกะเทวราชสวามีจึงพาไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก พร้อมให้พร 10 ประการ คือ ให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสิริราชแห่งนครสีพี ขอให้มีจักษุดำดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ ขอให้คิ้วดำสนิท ขอให้พระนามว่า ผุสดี ขอให้มีโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลายและมีใจบุญ ขอให้มีครรภ์ที่ผิดไปจากสตรีสามัญคือแบนราบในเวลาทรงครรภ์ ขอให้มีถันงามอย่ารู้ดำและหย่อนยาน ขอให้มีเกศาดำสนิท ขอให้มีผิวงาม และข้อสุดท้ายขอให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้
ตำรายันต์ต่างๆ เช่น ยันต์จักพรรดิตราธิราช ยันต์ตะกรุดโทน ยันต์ลงผ้าประเจียด ยันต์ลงผ้าเช็ดหน้า เขียนด้วยอักษรไทย และอักษรขอมไทย ด้านท้ายเขียนกลับด้าน บางแห่งเขียนด้วยอักษรธรรมอีสาน