อบรมเชิงปฏิบัติการ "การอนุรักษ์เอกสารโบราณและการทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณเพื่อความยั่งยืน"

อบรมเชิงปฏิบัติการ "การอนุรักษ์เอกสารโบราณและการทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณเพื่อความยั่งยืน"
ผู้เขียน :
นิสา เชยกลิ่น
คำสำคัญ :
วันที่เผยแพร่
26 กันยายน 2567

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การอนุรักษ์เอกสารโบราณและการทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณเพื่อความยั่งยืน” สำหรับเครือข่ายที่ทำงานด้านเอกสารโบราณ อาทิ ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ นักวิชาการและนักศึกษาที่ทำงานและสนใจด้านเอกสารโบราณ เป็นต้น ซึ่งการอบรมแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2567

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้กล่าวเปิดการอบรมโดยเน้นย้ำให้ตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารโบราณอันเป็นมรดกภูมิปัญญาของชนชาติไทย ความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเอกสารโบราณ และความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการจัดการเอกสารโบราณ รวมไปถึงการทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณและเผยแพร่สู่สาธารณะให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ในวงกว้าง อีกทั้งการสร้างเครือข่ายในการทำงานด้านเอกสารโบราณ เพื่อช่วยขยับขยายการทำงานให้กว้างขวางและสามารถดำเนินการด้านการอนุรักษ์ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนยิ่งขึ้น

                กิจกรรมแบ่งเป็น 3 วัน ดังนี้ 

วันแรก เป็นการอบรมในภาคทฤษฎี โดยแบ่งการบรรยายเป็น 4 ช่วง ได้แก่ 

"ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเอกสารโบราณและการสำรวจเอกสารโบราณ" โดย อ.ดอกรัก พยัคศรี อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้บรรยายประเภทเอกสารโบราณชนิดต่างๆ และแนวทางในการสำรวจเอกสารโบราณ

"การจัดการเอกสารโบราณแบบครบวงจร" โดย อ.ดอกรัก พยัคศรี กล่าวถึงการทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานตามหลัก Data Lifecycle Management จำนวน 8 ข้อ ได้แก่ แนวคิดและนโยบาย การประเมินและคัดเลือก การสร้างหรือ รับข้อมูล การอธิบายข้อมูล การสงวนรักษาข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การเข้าถึง ใช้และใช้ซ้ำข้อมูล และการแปรรูปข้อมูล 

"การจัดการข้อมูลเอกสารโบราณในรูปแบบดิจิทัล" โดย นิสา เชยกลิ่น นักวิชาการ ศมส. เล่าถึงกระบวนการทำงานจัดการข้อมูลเอกสารโบราณ ตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อทำสำเนาดิจิทัล การทำความสะอาดเอกสารโบราณทั้งใบลานและสมุดไทย การลงทะเบียนเอกสารโบราณตามหลักการของฐานข้อมูล การห่อผ้าและจัดเก็บเอกสารโบราณ

"การถ่ายภาพเอกสารโบราณเพื่อทำฐานข้อมูล" โดย ศุภกรานต์ พุ่มพฤกษ์ นักผลิตสื่อ เล่าถึงวิธีเลือกใช้กล้องถ่ายรูป เทคนิคที่ใช้ การตั้งค่ากล้องถ่ายรูป โปรแกรมที่ใช้ อุปกรณ์หรือฉากเซ็ตที่ใช้สำหรับทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ ทั้งยังได้สาธิตวิธีการถ่ายภาพ 

หลังจากนั้นจึงให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เริ่มจากการทำความสะอาด ทำทะเบียน และถ่ายภาพเพื่อทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณที่ทาง ศมส. จัดเตรียมไว้ให้

วันที่สอง ลงพื้นที่วัดบางหลวง  ต.บางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี

หลังจากผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีในการอนุรักษ์เอกสารโบราณเบื้องต้นแล้ว  จึงพาทุกคนลงพื้นที่ไปยังวัดบางหลวง จ.ปทุมธานี ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคนจะได้ทำความสะอาดเอกสารโบราณ ทำทะเบียนเอกสารโบราณ และการถ่ายภาพสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้ประสบการณ์ในการลงพื้นที่และการทำงานจริง เห็นถึงข้อจำกัดต่าง ๆ หรืออุปสรรคในการทำงานที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่องเวลา งบประมาณ บุคลากร และสถานที่ ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก อ.พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรและภาษามอญมาให้ความรู้และอธิบายถึงความสำคัญของเอกสารโบราณของวัดบางหลวงอีกด้วย และขอขอบพระคุณ พระมหาถาวร ถิรจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดบางหลวงที่อนุญาตให้พื้นที่ในการสำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณ

วันที่สาม จัดการข้อมูลเอกสารโบราณ

หลังจากที่ผู้เข้าร่วมอบรมได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำทะเบียน และทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณแล้ว ผู้เข้าอบรมจึงได้นำข้อมูลที่เก็บได้มาจัดการตามมาตรฐานการจัดการข้อมูลเอกสารโบราณของ ศมส.

"การจัดการสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณสู่ดิจิทัล" โดย นิสา เชยกลิ่น ได้บรรยายถึงการจัดการข้อมูลตามมาตรฐานของฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย ของ ศมส. ที่ใช้วงจรชีวิตข้อมูล Data Lifecycle Management การให้คำอธิบายและรายละเอียดต่าง ๆ ในแต่ละหัวข้อ เช่น ประเภทเอกสารโบราณ ชื่อเรื่อง อักษร ภาษา พิกัดภูมิศาสตร์ คำสำคัญ เป็นต้น การฝังข้อมููลเหล่านี้ลงไปในสำเนาดิจิทัลไฟล์ภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถค้นคืนและตรวจสอบไฟล์ภาพได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งแนะนำโปรแกรมการใช้งาน จากนั้นจึงให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทดลองจัดการข้อมูลเอกสารโบราณที่ได้จากการลงพื้นที่วัดบางหลวง จ.ปทุมธานี เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลดิจิทัล

หลังจากการอบรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรม โดยเฉพาะสมาชิกของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ จะนำทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับ ไปเริ่มต้นในการจัดการเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์มอญในประเทศไทย จนกระทั่งจัดทำเป็นฐานข้อมูล ทั้งเพื่อประโยชน์ในเชิงวิชาการ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานมรดกภูมิปัญญาของตนเองให้คงอยู่ต่อไป

อ้างอิง

นิสา เชยกลิ่น. (2567). อบรมเชิงปฏิบัติการ "การอนุรักษ์เอกสารโบราณและการทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณเพื่อความยั่งยืน" สืบค้น 05 กุมภาพันธ์ 2568. จาก ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย. http://manuscripts.sac.or.th/event-detail.php?id=133
นิสา เชยกลิ่น. อบรมเชิงปฏิบัติการ "การอนุรักษ์เอกสารโบราณและการทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณเพื่อความยั่งยืน" [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก : http://manuscripts.sac.or.th/event-detail.php?id=133. (วันที่ค้นข้อมูล : 05 กุมภาพันธ์ 2568)
นิสา เชยกลิ่น. อบรมเชิงปฏิบัติการ "การอนุรักษ์เอกสารโบราณและการทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณเพื่อความยั่งยืน" สืบค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2568. http://manuscripts.sac.or.th/event-detail.php?id=133