| |  Log in  |

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม

วัดคงคารามสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกรุงธนบุรี ตามประวัติกล่าวว่า เจ้าเมืองรามัญ 7 เมือง ได้แก่ พระสมิงสิงหบุรินทร์ เมืองสิงห์ พระนินนะภูมินบดี เมืองลุ่มสุ่ม พระชินติฐบดี เมืองท่าตะกั่ว พระนิโครธาภิโยค เมืองไทรโยค พระปนัสติฐบดี เมืองท่าขนุน พระเสลภูมิบดี เมืองทองผาภูมิ และพระผลกติฐบดี เมืองท่ากระดาน รวมถึงครอบครัวชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดคงคารามขึ้นเป็นวัดกลาง เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมในการร่วมทำสังฆกรรมของสงฆ์แบบรามัญนิกายในวันเข้าและออกพรรษาของทุกปี อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของชาวมอญในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญว่า “เภี้ยโต้” แปลว่าวัดกลาง และเป็นชื่อวัดหนึ่งในเมืองมอญ

ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 พระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ขุนนางไทยเชื้อสายมอญได้นิมนต์พระราชาคณะฝ่ายรามัญนิกายมาเป็นเจ้าอาวาส วัดคงคารามเจริญรุ่งเรืองถึงขั้นสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 4 พระครูรามัญญาธิบดี เจ้าอาวาสเป็นที่เคารพนับถือมาก กิจกรรมต่างๆ ของวัดได้รับการอุปถัมภ์โดยเจ้าจอมมารดากลิ่นในรัชกาลที่ 4 และทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นพระอารามหลวง ซึ่งได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดคงคาราม”

สำหรับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามนั้น ก่อตั้งในปี 2542 โดยใช้กุฏิ 9 ห้อง ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงไทยที่ใหญ่และงามที่สุดแห่งหนึ่ง จัดเป็นที่แสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่ล้ำค่าอันเป็นสมบัติของวัดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น โลงมอญอายุกว่า 200 ปี แกะสลักลายดอกพุดตานลงรักปิดทองประณีตงดงาม คัมภีร์ใบลานและสมุดไทยที่จารเป็นภาษามอญจำนวนมาก หีบและตู้พระธรรม เครื่องปั้นดินเผาศิลปะมอญแกะสลักลวดลายวิจิตรหาชมได้ยากในปัจจุบัน เครื่องมือช่างสมัยโบราณ หนังช้างอานม้าลงรักปิดทอง ตาลปัตรพัดยศรูปทรงงดงาม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชาวมอญ เครื่องถ้วยลายคราม เครื่องทองเหลือง เป็นต้น

ปี 2553 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ร่วมงานกับวัดคงคารามเมื่อครั้งจัดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “สยามใหม่จากมุมมองท้องถิ่น”

ต่อมาปี 2554 ศูนย์ฯ ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ เพื่อยืดอายุของผ้าในฐานะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางด้านศิลปะและพลังศรัทธาของชุมชน โดยมีผู้ทรงความรู้เรื่องผ้ามาให้ความรู้และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ผ้าอย่างง่ายให้กับชาวบ้าน ทั้งการเก็บรักษาผ้าให้คงสภาพดีด้วยวิธีการม้วนผ้ากับแกนเพื่อไม่ให้เส้นใยผ้าหักงอ การจัดแสดงผ้าด้วยการตรึงผ้ากับกรอบไม้ และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผืนผ้าด้วยการทำผ้าดามหลัง รวมทั้งการซ่อมแซมผ้าซึ่งมีทั้งวิธีการตามหลักการอนุรักษ์ และวิธีแบบพื้นบ้านผสมผสานกัน ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากลุงป้าน้าอาชาวคงคารามเป็นอย่างดี และการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์นี่เอง ทำให้ ดอกรัก พยัคศรี นักวิชาการฐานข้อมูลเอกสารโบราณฯ (ในขณะนั้น) ที่มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย พบว่านอกจากผ้าห่อคัมภีร์ที่น่าสนใจแล้ว ตัวเอกสารโบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้ก็มีความน่าสนใจ น่าศึกษา สมควรที่จะอนุรักษ์เอกสารโบราณในรูปแบบของสำเนาดิจิทัล และเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่เอกสารโบราณเหล่านี้ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเอกสารโบราณได้ง่ายขึ้น

ปี 2559 ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ จึงทำหนังสือขออนุญาตเพื่อทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ ทีมงานได้พบพระอนุวัฒน์ สุจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระเจี๊ยบ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พระเจี๊ยบให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้มีหน่วยงานของรัฐ คือ กลุ่มงานหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เข้ามาสำรวจ ชำระ แยกประเภทและจัดหมวดหมู่เอกสารโบราณของวัดคงคารามไว้อย่างดีมาก และจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ และได้อาจารย์พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญอักษรและภาษาโบราณมาช่วยอ่านแปลชื่อเรื่องให้ ซึ่งเป็นคุณูปการแก่วงวิชาการอย่างสูง

----
อ้างอิงข้อมูลจาก
1) ประวัติความเป็นมาและสภาพทั่วไปของเทศบาลตำบลคลองตาคต, สืบค้นจาก http://www.klongtakot.go.th/general1.php
2) แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม
3) รีวิวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม, ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศมส. https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/435

Tags : วัดคงคาราม , ราชบุรี , มอญ , คลองคาคต , เอกสารโบราณ , สมุไทย , ใบลาน , พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน , การสำรวจเอกสารโบราณ , เอกสารตัวเขียน , ชาติพันธุ์
Map : http://maps.google.com/?q=พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม&ll=13.715633431079999,99.85032747553609&z=19