“วัดหนัง” หรือ “วัดหนังราชวรวิหาร” ตามประวัติวัดนั้นสร้างเมื่อ พ.ศ.2260 หรือช่วงรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ สมัยก่อนแถววัดหนังอยู่เขตอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เมื่อรวมธนบุรีเข้ามาเป็นกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก วัดหนังก็ย้ายเข้ามาอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ยังปรากฏป้ายเก่าของวัดขณะที่ยังสังกัดจังหวัดธนบุรีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด
วัดหนังเป็นวัดเก่าแก่ในย่านนี้ และมีวัดในแถบใกล้ๆ กันอีกหลายวัดจนมีเรื่องเล่าว่า วัดในแถบนี้มีวัดสามพี่น้องคือ วัดหนัง วัดนางนอน และวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร และที่ใกล้กันนั้นก็มีวัดศาลาครึนด้วย วัดนางนองราชวรวิหารและวัดราชโอรสารามราชวรวิหารนั้นบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งศิลปะที่ปรากฏอยู่ที่วัดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะแบบจีน ส่วนวัดหนังนี้พระราชมารดาของรัชกาลที่ 3 ทรงให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหนังขึ้นใหม่ แต่ให้มีความเป็นไทยผสมอยู่มากกว่าวัดนางนองและวัดราชโอรสารามฯ แต่ก็ยังมีศิลปะแบบจีนปนอยู่บ้าง
พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิต และประวัติความเป็นมาของพื้นที่ย่านเขตจอมทอง คิดริเริ่มและลงมือจัดทำช่วง พ.ศ.2545 สมัยพระธรรมศีลาจารย์เป็นเจ้าอาวาส โดยมีพระครูสมุห์ไพฑูรย์ สุภาฑโร (ปัจจุบันลาสิกขาบทแล้ว) และบรรดาลูกศิษย์ในย่านวัดหนังช่วยกันก่อตั้งและจัดหาวัตถุจัดแสดง
ใบลานขนาดสั้น จารด้วยตัวอักษรขอมไทย ภาษาบาลี และอักษรไทย ภาษาไทย สภาพเอกสารชำรุดเล็กน้อย อักษรบางส่วนหายไป แต่โดยรวมแล้วเนื้อหายังพออ่านได้แล้ว เนื้อหากล่าวถึง ธาตุของทั้ง 4 ที่บังเกิดให้เป็นรูปกาย โรคของเด็กที่เกิดเดือนและธาตุต่าง ๆ
ตำรารักษาโรคสำหรับเด็ก เช่น ยาแก้สำรอก ยาแก้รากไม่ออก ยาเหลืองใหญ่ ยาชโลมซาง ยาแก้ท้องขึ้น ยาจุดกาฬ ยาอุปทม ยารมคชราช ยากวาดแท่งทอง ยอหอมใหญ่ ยาแปรฝีดาษ ยาลม ยาแก้ซางแดง ยาริดสีดวง ยาประสูติลูก ยาหืด ยามะเร็ง เป็นต้น
ตำรากล่าวถึงยาสำหรับรักษาโรคต่างๆ เช่น ยาปทุมเกสร ยาแท่งทอง ยาเหลือง ยาเหลือกวาดแก้พิษซาง ยาแก้ตานขโมย ยาเบญโกฐ ยาละอองพระบาท ยาแท่งทองสำหรับลมกุมภัณฑ์ ลมซางทั้งปวง ยามหาไชอาด ยาหิ่งคู่ ยาปลุกเลือด ยาพลวก ยาแก้ฝีในท้อง แก้เลือดลมกร่อน แก้ลมเดินไม่สะดวก เป็นต้น
หน้าปกใบลานจารว่า “ตำราทำนายวันดีวันร้าย หากจะทำการสิ่งใดใหพึงระวังไว้”