วัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ตั้งขึ้นจากการขยายตัวของชุมชน 2 หมู่บ้านได้แก่ ชุมชนบ้านนครบาลและชุมชนบ้านใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยยวนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยแต่เดิมเป็นชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อชุมชนบริเวณดังกล่าวหนาแน่นมากขึ้น จึงได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนตั้งรกรากที่บริเวณเมืองราชบุรี อยู่รวมกันเป็นชุมชนชาวไทยยวนขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่เมืองโบราณคูบัว เอกสารโบราณของวัดถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีภายในตู้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ของวัด เอกสารโบราณดังกล่าวท่านพระครูพัฒนกิจสุนทรได้รวบรวมมาจากวัดในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่ไม่สามารถดูแลรักษาไว้ได้หรือไม่ให้ความสำคัญต่อเอกสารโบราณ รวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ ด้วย จากการสำรวจพบว่า เอกสารโบราณประเภทใบลานบางส่วนได้รับการจัดทำทะเบียนโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติไว้แล้ว
ท่านพระครูพัฒนกิจสุนทร (สังข์ ชิตมาโร) อดีตเจ้าวัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ท่านมีเชื้อสายชาวไทยยวน เป็นพระสงฆ์ 1 ในจำนวน 2 รูป ของชุมชนชาวไทยยวนคูบัว ที่ยังคงสวดมนต์และประกอบพิธีแบบไทยวนอยู่ อีกท่านหนึ่งคือท่านพระครูวินัยธร โชติโย เจ้าอาวาสวัดทุ่งหญ้าคมบาง พระครูพัฒนกิจสุนทร หรือหลวงพ่อสังข์ ท่านได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุรวมถึงเอกสารโบราณมาจากวัดต่างๆ ภายในเขตชุมชนไทยยวน โดยมีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาทางด้านอักษรและภาษาไทยวน ให้อยู่คู่ชุมชน เพื่อที่จะรักษาไว้ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดินสืบไป แต่ขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์และงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าแก่ผู้ที่สนใจ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นสืบไป
เอกสารโบราณที่รวบรวมไว้มีทั้งที่เป็นอักษรไทย อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนา เป็นที่น่าสนใจที่ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบอักษรและอักขรวิธีของอักษรธรรมล้านนา รวมถึงการศึกษาทางด้านคติชนวิทยา มานุษยวิทยา สังคมวิทยา และพุทธศาสนา กับเอกสารโบราณของพื้นที่เขตวัฒนธรรมล้านนา อันจะช่วยให้เห็นความแตกต่างหลากหลายกลุ่มชนที่อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมต่างกันได้เป็นอย่างดี
RBR_003_176-186 รวมกันอยู่ใน “เลขที่ 50 ปทุมบัวหอม ผูก 1–6 อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยล้านนา ฉบับทองทึบ ไม่มีไม้ประกับ 11 ผูก” หน้าทับต้น เขียนอักษรไทยด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน “บัวหอม ผูก ๔ สร้างจุลศักราช ๑๑๘๖ แล ผูกนี้ สร้างในสมัย ร. ๒-๓ เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ วันพุธ ปีวอก ในฤดูฝนยามบ่าย พ.ศ. ๒๓๖๗ แล” (คำว่า “แล” ใช้อักษรธรรมล้านนา) ลานแรก ด้านซ้ายมือ ระบุ “ปทุมบัวหอม ผูกถ้วน ๔” ท้ายลาน ระบุ “กิริยาอันสังวรรณนายังนิยายโคนบุตรชาดก ตั้งแต่ปฐมกัณฑ์ถ้วน ๓ มารอดจอดเถิงกันถ้วน ๔ ก็สมเร็จเสด็จแล้วบัวระมวลเท่านี้ก่อนแล ๛ ※ จุลศักราชได้ ๑๑๘๖ ตัว ในวอกฉนำกัมโพชกรอมพิสัย ไทยภาษาว่าปีสัน เข้ามาในอุตุฤดูฝน เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ พร่ำว่าได้วัน ๔ ยามตูดช้าย ก็มีวันนั้นแล || ข้าเรียนเขียนใหม่บ่งามสักหน้อยแล ตกที่ใด ขอหื้อใส่เสียจิ่ม พี่ทุพี่พระเหย ขออย่าด่าข้าพร่องเทอะ ธรรมผูกนี้ชื่อว่า ปทุมบัวหอม ผูกสี่ ※ นิจฺจํ ธุวํ แด่เทอะ โวหารตนข้าชื่อว่า คันธิยะ รัสสภิขุเขียนบ่งาม ใหม่แล” หน้าทับปลาย เขียนดินสอ “หน้าทับเค้าปทุมบัวหอม ผูกถ้วน ๔”
RBR_003_195-201 รวมกันอยู่ใน “เลขที่40 จันทคาต ผูก 1-4 อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยล้านนา ฉบับทองทึบ ไม่มีไม้ประกับ 7 ผูก” RBR_198-199 เป็นชุดเดียวกัน หน้าทับต้น “จันทคาตผูกที่ ๔ ผูกปลาย มีกับกัน ๔ ผูก” ด้านหลังหน้าทับต้น เขียนคำอาราธนาศีลอักษรไทยด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน “ปานา อะทินนากรรม มุสา สุรา อิมานิ ปันจะ สิกขา ปทานิ สีเรนะ สุคคะติง ยันติ สีเรนะ โพคะสัมปทา สีเลนนิพุตึ ยันติ ตสัมา ลีลํ วิโสธะเย” ลานแรกด้านซ้ายมือ ระบุ “จันทฆาต ผูก ๔ ทั้งมวลมี ๔ ผูกแลเจ้าเหย” ท้ายลาน ระบุ “จันทฆาตกํ นิฏฺฐิตํ กิริยาอันกล่าวยังอันกล่าวยังจันทฆาตชาดก ผูกถ้วน ๔ ก็บังคมสมเร็จเสด็จแล้วบอระมวลควรกาล ธรรมเทศนาเท่านี้ก่อนแล ฯฯ๛ บริบูรณ์แล้วยามเพลแล้วพอดีแลเจ้าเหย || เดือน ๘ ศีลแล ปีชวดแล ๛ ยังมีศรัทธาทุพี่หลวงกับปิตตามารดาพี่น้องชู่ผู้ชู่คน ก็หาโปฏกํยังใบลานมาหื้อตนตัวผู้ข้าชื่อว่า รัสสภิกขุธรรมสอน บวชอยู่วัดหนองนา หาตัวแม่บ่ได้ หาทางใดก็บ่มีแลเจ้าเหย นายเหย ๛ ทุพี่หลวง[เ]พิ่นก็ยังมีผู้ดีปูนตีตูนแท้แล ผู้สร้างกับผู้เขียนขอหื้อได้บุญถึงกันแด่เทอะ||” หน้าทับปลาย เขียนอักษรไทยด้วยดินสอดำ “กล่าวจันทฆาต ผูกสี่ ก็แล้วเท่านี้ก่อนแล” และเขียนอักษรธรรมล้านนาด้วยดินสอดำ “พระภิกษุได้ พระภิกษุได้เทศน์ที ๑ แล้วXXXXX” / เขียนอักษรธรรมล้านนาด้วยดินสอดำ “ผูก ๔” และปากกาน้ำเงิน “ผูก ๔” มีรอยแก้ไขด้วยปากาสีน้ำเงิน
หน้าทับเค้าระบุ “ฯı เขียนยามเมื่ออุปสมบทอยู่วัดดอนแจง ฯ ฯı หน้าทับเค้าพุทธตำนานแลท่านเหย ฯ๛๛ฯ ฯı ตัวบ่ดีสักน้อยเหมือนปูน้อยยาดหัวคันนา ฯ”, “เป็นที่ระลึก” และ “๛ฯ[กลับด้านซ้ายขวา] ครั้นว่าตายไปตกที่ร้ายขอหื้อ ฯı๛ ๛ฯ[กลับด้านซ้ายขวา] ยกย้ายขึ้นสู่ที่สูงแด่เทอะฯ๛” ท้ายลานระบุ “จบราทธนาเทศน์เท่านี้ก่อนแลท่านทั้งหลายเหย ฯı๛” หน้าทับปลายระบุ “หน้าปลายพุทธตำนานแลท่านเหยนายเหย ฯı๛ พระเวียนเขียนยามเมื่ออยู่วัดดอนแจงนี้แล ฯı๛”, “เป็นเป็นที่พระระลึก” และ “เสด็จแล้ววันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ๓ โมงเช้า ฯı ปีวอก พระพุทธศักราชได้ ๒๔๖๗ ฯı๛”
หน้าต้น เขียนอักษรไทย ด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน “ธรรมดาสอนโลก” ลานแรก หัวลาน เขียนอักษรธรรมล้านนา ด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน “ธรรมดาสอนโลก” และอักษรไทย “ธรรมดาสอนโลก” ท้ายลาน ระบุ “กล่าวห้องธรรมดาสอนโลกอันตามอันย่ออันแคบ ก็แล้วเท่า[นี้]ก่อนแล กล่าวห้องธรรมดาสอนโลก ก็สมเร็จเสด็จแล้วเท่านี้ก่อนแล ๛ จบแล้วท่านเอย ปริปุณณา เสด็จแล้ว ฯ ฯ ฯ ” (ตัวเอียง จารด้วยอักษรขอมไทย)