วัดเจ็ดริ้ว ตั้งอยู่ในตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ริมคลองเจ็ดริ้ว ในอดีตประชาชนจะใช้ทางนำเป็นทางสัญจรไปมา ปัจจุบันมีถนนสายบ้านแพ้ว-วัดคลองตัน ผ่าน วัดนี้เป็นศูนย์รวมประเพณีชาวรามัญ ปัจจุบันได้อนุรักษ์ประเพณีการสวดมนต์ทำนองรามัญ คำว่า “เจ็ดริ้ว” มีที่มาที่ไปพอจะสืบค้นจากเอกสารอื่นๆ ได้ว่า มาจากเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีอยู่วันหนึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ไปหาปลาและได้ปลามามากมาย ที่เหลือจากทำอาหารรับประทาน ก็ได้นำมาทำเป็นปลาเค็มไว้ เล่ากันว่าปลาช่อนตัวหนึ่ง ตัวโตมากเมื่อผ่าออกแล้วทำเป็นริ้ว ๆ เพื่อสะดวกในการทาเกลือและทำให้แห้งเร็ว ปรากฎว่านับได้ถึงเจ็ดริ้ว ตั้งแต่นั้นพื้นที่บริเวณนี้ จึงถูกขนานนามว่า “เจ็ดริ้ว” ซึ่งเนื้อหาทำนองนี้นั้นคล้ายกับคำว่า “แปดริ้ว” ของชาวฉะเชิงเทรา วัดเจ็ดริ้ว แต่เดิมตั้งอยู่บนที่ดอน ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 ชาวเจ็ดริ้วได้ร่วมมือ กับทางราชการขุดคลองขึ้นตามแนวร่องน้ำซึ่งมีอยู่เดิม เพื่อสะดวกในการสัญจรไปมา และขุดผ่านหน้าวัดพอดี คลองนี้มีความยาว 8 กิโลเมตรเศษ โดยขุดตัดกับคลอง ดำเนินสะดวกไปทะลุคลองจีนดา จึงทำให้มองเห็นสภาพของวัดเจ็ดริ้ว ตั้งอยู่ริมคลอง ฝั่งตะวันตก ปัจจุบัน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวนเนื้อที่ 98 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา วัดนี้ตั้งขึ้นประมาณเกือบร้อยปีได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว แต่เดิมวัดนี้มีชื่อว่า “วัดรามัญวงศ์วราราม” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “วัดเจ็ดริ้วรามัญวงศ์” และ ในปัจจุบันนี้ชื่อว่า “วัดเจ็ดริ้ว” วัดเจ็ดริ้ว สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2436 โดยมีชาวเจ็ดริ้วเชื้อสายรามัญคือ กำนันไกร บ้านพาดหมอน ผู้ใหญ่อินทร์ ทองชิว กำนันตู้ บ้านดอนครุฑ นายยก ร้อยอำแพง นายเจริญ ร้อยอำแพง นายชู มอญใต้ นายเลาะ พึ่งบ้านเกาะ นายถึก ไวยาวัจกร พร้อมด้วยประชาชนได้ร่วมกันปรึกษาหารือ จะสร้างวัดไว้ประจำหมู่บ้าน เพราะวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เป็นสถานที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษา เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เป็นจุดรวมน้ำใจคนในหมู่บ้าน จึงได้กำหนดเอาวันอาทิตย์ซึ่งเป็น วันธงชัยเป็นวันยก เสาเอก ตามภาษิตที่ว่า “สร้างวัดวันอาทิตย์ สุขตามติดทุกวันไป มีโชคเพราะธงชัย แสนเปรมปรีดิ์ในอาราม” การดำเนินการก่อสร้างวัด และในระยะแรกการก่อสร้างใช้วัสดุพื้นบ้าน เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องซื้อจากร้านค้าบ้างลักษณะกุฏิหรือวัดแต่เดิมนั้น ใช้โครงไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้อง สร้างขึ้นไล่เลี่ยกันถึง 3 หลัง และหอฉันอีกหนึ่งหลัง ------------------------------------ อ้างอิง ข้อมูลจาก http://jedriew.freevar.com/Jedriew%๒๐temmple.htm
หอวัฒนธรรมลาวเวียงตั้งอยู่ที่ วัดโบสถ์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยพระอธิการบุตตา ได้สร้างกุฏิและวางรากฐานอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2370 มีชาวบ้านรวม 3 หมู่บ้าน ร่วมกันทำบุญกุศลอยู่ที่วัด ที่เสนาสนะต่าง ๆ เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาฌาปนสถาน ตลอดจนถาวรวัตถุภายในวัด วัดโบสถ์นี้แต่เดิมคือ วัดบ้านเลือกเหนือ ซึ่งเป็นวัดคู่กับ วัดบ้านเลือกใต้ (วัดบ้านเลือก) ต่อมาหลวงปู่อินทร์ (พระครูประสาทสังวรกิจ) ได้สร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่ เพื่อทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในวัดบ้านเลือกเหนือ เนื่องจากอุโบสถใหม่นี้มีความวิจิตรงดงาม ผู้คนที่เข้ามาเห็นต่างเล่าลือบอกต่อ ๆ กันว่า ที่วัดแห่งนี้มีโบสถ์ที่สวยงามยิ่งนัก ต่อมาคนจึงเรียกว่า วัดโบสถ์งาม และกร่อนมา “วัดโบสถ์” มาจนถึงปัจจุบันนี้
วัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ตั้งขึ้นจากการขยายตัวของชุมชน 2 หมู่บ้านได้แก่ ชุมชนบ้านนครบาลและชุมชนบ้านใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยยวนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยแต่เดิมเป็นชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อชุมชนบริเวณดังกล่าวหนาแน่นมากขึ้น จึงได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนตั้งรกรากที่บริเวณเมืองราชบุรี อยู่รวมกันเป็นชุมชนชาวไทยยวนขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่เมืองโบราณคูบัว เอกสารโบราณของวัดถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีภายในตู้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ของวัด เอกสารโบราณดังกล่าวท่านพระครูพัฒนกิจสุนทรได้รวบรวมมาจากวัดในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่ไม่สามารถดูแลรักษาไว้ได้หรือไม่ให้ความสำคัญต่อเอกสารโบราณ รวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ ด้วย จากการสำรวจพบว่า เอกสารโบราณประเภทใบลานบางส่วนได้รับการจัดทำทะเบียนโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติไว้แล้ว ท่านพระครูพัฒนกิจสุนทร (สังข์ ชิตมาโร) อดีตเจ้าวัดใหม่นครบาล ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ท่านมีเชื้อสายชาวไทยยวน เป็นพระสงฆ์ 1 ในจำนวน 2 รูป ของชุมชนชาวไทยยวนคูบัว ที่ยังคงสวดมนต์และประกอบพิธีแบบไทยวนอยู่ อีกท่านหนึ่งคือท่านพระครูวินัยธร โชติโย เจ้าอาวาสวัดทุ่งหญ้าคมบาง พระครูพัฒนกิจสุนทร หรือหลวงพ่อสังข์ ท่านได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุรวมถึงเอกสารโบราณมาจากวัดต่างๆ ภายในเขตชุมชนไทยยวน โดยมีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาทางด้านอักษรและภาษาไทยวน ให้อยู่คู่ชุมชน เพื่อที่จะรักษาไว้ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดินสืบไป แต่ขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์และงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าแก่ผู้ที่สนใจ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นสืบไป เอกสารโบราณที่รวบรวมไว้มีทั้งที่เป็นอักษรไทย อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนา เป็นที่น่าสนใจที่ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบอักษรและอักขรวิธีของอักษรธรรมล้านนา รวมถึงการศึกษาทางด้านคติชนวิทยา มานุษยวิทยา สังคมวิทยา และพุทธศาสนา กับเอกสารโบราณของพื้นที่เขตวัฒนธรรมล้านนา อันจะช่วยให้เห็นความแตกต่างหลากหลายกลุ่มชนที่อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมต่างกันได้เป็นอย่างดี
วัดโคก จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี มีที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 14 ไร่ 80 ตารางวา มีทีธรณีสงฆ์ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ส่วนที่มาของชื่อวัดสันนิษฐานว่ามาจากลักษณะภูมิศาสตร์ที่ตั้งของวัด ด้วยทางด้านทิศตะวันออกของวัดมีแม่น้ำคลองกระแชงไหลผ่าน เมื่อเข้าหน้าน้ำ น้ำจะท่วมวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ แต่น้ำไม่ท่วมวัดนี้ เพราะเป็นที่สูง จึงให้ชื่อว่า "วัดโคก" วัดโคก ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2170 อุโบสถหลังเก่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา อุโบสถหลังนี้ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งในสมัยพระอธิการลำไย ปทีโป เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าและได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2518 โดยได้รับความอุปถัมภ์จากหลวงจบกระบวนยุทธ และคุณหญิงจงกล กิตติขจร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัด เอกสารโบราณของวัดโคก จ.เพชรบุรี พบว่าเอกสารโบราณประเภทใบลาน จะเป็นใบลานก้อม (ใบลานขนาดเล็กว่าใบลานปกติ) จารด้วยอักษรไทย อยู่ในหมวดเวชศาสตร์ และหมวดธรรมคดี ประมาณ 20 ผูก ส่วนเอกสารโบราณประเภทสมุดไทย จะเป็นสมุดไทยดำ สมุดไทยขาว เขียนด้วยอักษรขอมไทย และอักษรไทย อยู่ในหลายหมวดทั้งโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ กฎหมาย และวรรณกรรม แต่น่าเสียดายที่สมุดไทยส่วนใหญ่ไม่ครบฉบับ เนื้อหาบางส่วนขาดหายไปบ้าง โดยคณะทำงานได้จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณลงในแบบบันทึกข้อมูล ทำความสะอาดเอกสารโบราณตามกรรมวิธีที่เหมาะสม ถ่ายภาพทำสำเนาดิจิทัล ทำป้ายชื่อกำกับเอกสารโบราณ และห่อคัมภีร์เพื่อจัดเก็บคืนให้แก่วัด พร้อมทั้งแนะนำการเก็บรักษาเอกสารโบราณให้แก่ทางวัด อ้างอิงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดโคก_(จังหวัดเพชรบุรี) https://communityarchive.sac.or.th/community/WatKhok http://m-culture.in.th/album/16219
วัดคงคารามสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกรุงธนบุรี ตามประวัติกล่าวว่า เจ้าเมืองรามัญ 7 เมือง ได้แก่ พระสมิงสิงหบุรินทร์ เมืองสิงห์ พระนินนะภูมินบดี เมืองลุ่มสุ่ม พระชินติฐบดี เมืองท่าตะกั่ว พระนิโครธาภิโยค เมืองไทรโยค พระปนัสติฐบดี เมืองท่าขนุน พระเสลภูมิบดี เมืองทองผาภูมิ และพระผลกติฐบดี เมืองท่ากระดาน รวมถึงครอบครัวชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดคงคารามขึ้นเป็นวัดกลาง เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมในการร่วมทำสังฆกรรมของสงฆ์แบบรามัญนิกายในวันเข้าและออกพรรษาของทุกปี อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของชาวมอญในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญว่า “เภี้ยโต้” แปลว่าวัดกลาง และเป็นชื่อวัดหนึ่งในเมืองมอญ ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 พระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ขุนนางไทยเชื้อสายมอญได้นิมนต์พระราชาคณะฝ่ายรามัญนิกายมาเป็นเจ้าอาวาส วัดคงคารามเจริญรุ่งเรืองถึงขั้นสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 4 พระครูรามัญญาธิบดี เจ้าอาวาสเป็นที่เคารพนับถือมาก กิจกรรมต่างๆ ของวัดได้รับการอุปถัมภ์โดยเจ้าจอมมารดากลิ่นในรัชกาลที่ 4 และทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นพระอารามหลวง ซึ่งได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดคงคาราม” สำหรับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามนั้น ก่อตั้งในปี 2542 โดยใช้กุฏิ 9 ห้อง ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงไทยที่ใหญ่และงามที่สุดแห่งหนึ่ง จัดเป็นที่แสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่ล้ำค่าอันเป็นสมบัติของวัดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น โลงมอญอายุกว่า 200 ปี แกะสลักลายดอกพุดตานลงรักปิดทองประณีตงดงาม คัมภีร์ใบลานและสมุดไทยที่จารเป็นภาษามอญจำนวนมาก หีบและตู้พระธรรม เครื่องปั้นดินเผาศิลปะมอญแกะสลักลวดลายวิจิตรหาชมได้ยากในปัจจุบัน เครื่องมือช่างสมัยโบราณ หนังช้างอานม้าลงรักปิดทอง ตาลปัตรพัดยศรูปทรงงดงาม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชาวมอญ เครื่องถ้วยลายคราม เครื่องทองเหลือง เป็นต้น ปี 2553 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ร่วมงานกับวัดคงคารามเมื่อครั้งจัดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “สยามใหม่จากมุมมองท้องถิ่น” ต่อมาปี 2554 ศูนย์ฯ ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ เพื่อยืดอายุของผ้าในฐานะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางด้านศิลปะและพลังศรัทธาของชุมชน โดยมีผู้ทรงความรู้เรื่องผ้ามาให้ความรู้และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ผ้าอย่างง่ายให้กับชาวบ้าน ทั้งการเก็บรักษาผ้าให้คงสภาพดีด้วยวิธีการม้วนผ้ากับแกนเพื่อไม่ให้เส้นใยผ้าหักงอ การจัดแสดงผ้าด้วยการตรึงผ้ากับกรอบไม้ และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผืนผ้าด้วยการทำผ้าดามหลัง รวมทั้งการซ่อมแซมผ้าซึ่งมีทั้งวิธีการตามหลักการอนุรักษ์ และวิธีแบบพื้นบ้านผสมผสานกัน ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากลุงป้าน้าอาชาวคงคารามเป็นอย่างดี และการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์นี่เอง ทำให้ ดอกรัก พยัคศรี นักวิชาการฐานข้อมูลเอกสารโบราณฯ (ในขณะนั้น) ที่มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย พบว่านอกจากผ้าห่อคัมภีร์ที่น่าสนใจแล้ว ตัวเอกสารโบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้ก็มีความน่าสนใจ น่าศึกษา สมควรที่จะอนุรักษ์เอกสารโบราณในรูปแบบของสำเนาดิจิทัล และเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่เอกสารโบราณเหล่านี้ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเอกสารโบราณได้ง่ายขึ้น ปี 2559 ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ จึงทำหนังสือขออนุญาตเพื่อทำสำเนาดิจิทัลเอกสารโบราณ ทีมงานได้พบพระอนุวัฒน์ สุจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระเจี๊ยบ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พระเจี๊ยบให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้มีหน่วยงานของรัฐ คือ กลุ่มงานหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เข้ามาสำรวจ ชำระ แยกประเภทและจัดหมวดหมู่เอกสารโบราณของวัดคงคารามไว้อย่างดีมาก และจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ และได้อาจารย์พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญอักษรและภาษาโบราณมาช่วยอ่านแปลชื่อเรื่องให้ ซึ่งเป็นคุณูปการแก่วงวิชาการอย่างสูง อ้างอิงข้อมูลจาก 1) ประวัติความเป็นมาและสภาพทั่วไปของเทศบาลตำบลคลองตาคต, สืบค้นจาก http://www.klongtakot.go.th/general1.php 2) แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม 3) รีวิวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม, ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศมส. https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/435
“วัดหนัง” หรือ “วัดหนังราชวรวิหาร” ตามประวัติวัดนั้นสร้างเมื่อ พ.ศ.2260 หรือช่วงรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ สมัยก่อนแถววัดหนังอยู่เขตอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เมื่อรวมธนบุรีเข้ามาเป็นกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก วัดหนังก็ย้ายเข้ามาอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ยังปรากฏป้ายเก่าของวัดขณะที่ยังสังกัดจังหวัดธนบุรีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด วัดหนังเป็นวัดเก่าแก่ในย่านนี้ และมีวัดในแถบใกล้ๆ กันอีกหลายวัดจนมีเรื่องเล่าว่า วัดในแถบนี้มีวัดสามพี่น้องคือ วัดหนัง วัดนางนอน และวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร และที่ใกล้กันนั้นก็มีวัดศาลาครึนด้วย วัดนางนองราชวรวิหารและวัดราชโอรสารามราชวรวิหารนั้นบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งศิลปะที่ปรากฏอยู่ที่วัดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะแบบจีน ส่วนวัดหนังนี้พระราชมารดาของรัชกาลที่ 3 ทรงให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหนังขึ้นใหม่ แต่ให้มีความเป็นไทยผสมอยู่มากกว่าวัดนางนองและวัดราชโอรสารามฯ แต่ก็ยังมีศิลปะแบบจีนปนอยู่บ้าง พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิต และประวัติความเป็นมาของพื้นที่ย่านเขตจอมทอง คิดริเริ่มและลงมือจัดทำช่วง พ.ศ.2545 สมัยพระธรรมศีลาจารย์เป็นเจ้าอาวาส โดยมีพระครูสมุห์ไพฑูรย์ สุภาฑโร (ปัจจุบันลาสิกขาบทแล้ว) และบรรดาลูกศิษย์ในย่านวัดหนังช่วยกันก่อตั้งและจัดหาวัตถุจัดแสดง
บริเวณวัดห้วยตะโกสันนิษฐานว่าเคยเป็นวัดเก่าแก่มาก่อน ต่อมาพระครูสังฆรักษ์ไพบูลย์ กตปุญโญ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดห้วยตะโก ท่านมีความสนใจศิลปะเขมร ท่านจึงมีแนวคิดที่จะผสมผสานรูปแบบศิลปะดังกล่าวเข้ามาไว้ในวัด โดยเฉพาะอุโบสถหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ท่านได้แนวคิดมาจากบรรณาลัยของปราสาทหินพนมรุ้ง นอกจากนี้ท่านยังพยายามจะให้วัดห้วยตะโกเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน มีมุมต่าง ๆ ที่ให้ความรู้ อาทิ เตาเผาสร้างอาชีพ ซึ่งเป็นมุมที่จัดเป็นสถานที่ผลิตอิฐเพื่อนำมาก่อสร้างโบสถ์องค์ปัจจุบัน มุมวาดลายไทย เป็นต้น ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดนครปฐม ปี พ.ศ. 2546 ฉบับเนื้อหาโดยสังเขป. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (เอกสารอัดสำเนา), 2546.
วัดสำโรง ปรากฏหลักฐานตามทะเบียนวัด ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2343 เดิมชื่อว่า “วัดสามโรง” และชาวบ้านช่วยกันสร้างโรงขึ้นมาสามหลัง เพราะสถานที่นี้มีพระภิกษุมาปักกลดอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าสมควรตั้งเป็นวัด ปู่ดำเจ้าของที่จึงถวายที่ตรงนี้ให้เป็นที่ตั้งวัด และชาวบ้านพร้อมใจกันไปอาราธนา พระภิกษูนุช ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดลานตากฟ้า (วัดอยู่ตรงข้ามกับวัดสำโรงในปัจจุบัน) มาเป็นเจ้าอาวาส ปู่ดำเจ้าของที่ดินก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุด้วย และช่วยกันพัฒนาสิ่งก่อสร้างจนสามารถทำสังฆกรรมได้ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อเรียกวัดนี้ว่า “วัดสามโรง” เมื่อวัดสามโรง เจริญขึ้นมาได้ตามลำดับ ชาวบ้านวัดสามโรงได้เห็นตรงกันว่า ควรเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ให้ตรงกับบริเวณวัดที่มีต้นสำโรงตั้งอยู่ด้วย ด้วยสาเหตุนี้จึงเปลี่ยนจากชื่อจาก วัดสามโรง เป็น วัดสำโรง จนถึงปัจจุบัน
พระสอนชัย ปภากโร กล่าวถึงที่มาของของเอกสารโบราณชุดนี้ว่า พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ นำมาถวายวัดทุ่งเนินพะยอมเป็นมรดกตกทอดมา เนื่องจากครอบครัวรับราชการเกรางว่าภูมิปัญญาชาวบ้านจะหายไปจึงถวายวัด แต่เนื่องจากวัดกำลังพัฒนามีการเปลี่ยนแปลง กรรมการวัดเกรงว่าเอกสารเก่าๆ ที่มีสภาพสมบูรณ์เล่มนี้จะถูกทำลายจึงขอมอบให้ ฐานข้อมูลเอกสารโบราณฯ ศมส. เพื่อเก็บรักษาเป็นสมบัติของชาติสืบต่อไป